กรุงเทพฯ 16 ธ.ค. – สำนักงานชลประทานที่ 6 ระบุ 2 เขื่อนใหญ่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดตามแผนที่ชลประทานวางไว้
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยสามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถสนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมได้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ ด้วยการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและส่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้แก่พื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูแล้ง (1 พ.ย. 62) กว่า 80 เครื่อง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย โดยบางพื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว แต่ยังคงเครื่องสูบน้ำไว้ช่วยเหลือเฉพาะการอุปโภคบริโภค 14 เครื่อง นอกจากนี้ ในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาวยังได้มีการนำรถแบคโฮบูมยาวเข้าไปดำเนินการขุดลอกตะกอนดินในคลองส่งน้ำสายต่าง ๆ ที่มีตะกอนดินทับถมเพื่อให้การส่งน้ำจากเขื่อนลำปาวไปถึงเกษตรกรได้ทั่วถึง ซึ่งโครงการฯ ลำปาวเริ่มส่งน้ำให้เกษตรกรในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้
นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมรณรงค์ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด ได้แก่ โครงการชลประทานชัยภูมิติดตามสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำบ้านเพชร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตประปาอำเภอภูเขียวและอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำท้องถิ่นทราบสถานการณ์และขอความร่วมมือให้ใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการชลประทานกาฬสินธุ์จัดประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยผึ้งและอ่างเก็บน้ำห้วยฝา เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำและแจ้งแผนกำหนดการส่งน้ำในฤดูแล้งปี 2562/2563 ร่วมกับคณะกรรมการบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 2 อ่างและกำหนดให้กลุ่มผู้ใช้น้ำทำความสะอาดและขุดลอกคลองและคูน้ำส่งน้ำก่อนการส่งน้ำตามหลักการมีส่วนร่วม ด้านจังหวัดร้อยเอ็ด โครงการชลประทานร้อยเอ็ดประชุมร่วมกับคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้าและอ่างเก็บน้ำห้วยกุดแดงเพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำและแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/2563 โดยมติที่ประชุมจะเริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า วันที่ 5 มกราคม 2563 และอ่างเก็บน้ำห้วยกุดแดงจะเริ่มส่งน้ำ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 สั่งการให้โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัดเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า.-สำนักข่าวไทย