กรุงเทพฯ 12 พ.ย. – สำนักชลประทาน 6 ขอความร่วมมือ อปท.งดสนับสนุนค่าไฟฟ้าสถานีสูบน้ำท้ายเขื่อนอุบลรัตน์และจุฬาภรณ์ เกรงถูกสูบไปทำการเกษตร เนื่องจากน้ำทั้ง 2 เขื่อนมีน้อย เพียงพอใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์มีน้ำในเกณฑ์น้อย กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการไว้เฉพาะการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น ไม่เพียงพอสำหรับการทำการเกษตร จึงได้ขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งดสนับสนุนค่าไฟฟ้าแก่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำและลำห้วยท้ายเขื่อน เพื่อไม่ให้เกษตรกรสูบน้ำไปใช้ทำการเกษตร
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ปริมาตรเก็บกักต่ำสุดอยู่ที่ 581 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะนี้น้ำในอ่างมีอยู่ 571 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่าง ดังนั้น จึงใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 10 ล้าน ลบ.ม. จากแผนบริหารจัดการที่วางไว้น้ำจะเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น โดยระบายวันละ 650,000 ลบ.ม. ซึ่งมั่นใจว่าเพียงพอจนถึงต้นฤดูฝนหน้าเดือนกรกฎาคม 2563 แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด คือ ไม่ให้มีการสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรระหว่างทางในลำน้ำพองจากท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ไปบรรจบลำน้ำชีและจากลำน้ำชีไปถึงเขื่อนวังยาง จังหวัดมหาสารคาม รวมระยะทาง 230 กิโลเมตร
ส่วนเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีน้ำใช้การได้ 13 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 10 ของความจุอ่างซึ่งสงวนไว้เพื่อการทำน้ำประปาเท่านั้น จากท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์จะต้องส่งน้ำให้ถึงการประปาที่อำเภอภูเขียว ระยะทาง 60 กิโลเมตร ซึ่งต้องประสาน อปท.งดสนับสนุนค่าไฟฟ้าแก่สถานีสูบน้ำระหว่างทางเช่นกัน เพื่อไม่ให้มีการสูบน้ำไปใช้ด้านอื่น ทางจังหวัดเตรียมประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหาแหล่งน้ำใต้ดินเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีน้ำสำรองไว้ที่เขื่อนห้วยกุ่ม 5 ล้าน ลบ.ม.
นายศักดิ์ศิริ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า เป็นเขื่อนขนาดใหญ่แห่งเดียวตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีน้ำใช้การมากถึงร้อยละ 74 ของความจุอ่าง รวม 1,467 ล้านลบ.ม. ซึ่งเพียงพอจัดสรรให้เกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และบางส่วนของอุบลราชธานีทำนาปรังและการเกษตรอื่น ๆ โดยส่งน้ำวันละ 130,000 ลบ.ม. ทั้งนี้ เขื่อนลำปาวปรับลดการระบายน้ำลงจากเดิมระบายวันละ 2-3 ล้าน ลบ.ม. เมื่อฤดูนาปีเสร็จสิ้นความต้องการใช้น้ำทางการเกษตรลดลง จึงเก็บกักน้ำในอ่างไว้ให้มากที่สุด
“หากสามารถควบคุมการใช้น้ำอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามแผนบริหารจัดการที่วางไว้ มั่นใจว่าพื้นที่ 5 จังหวัดตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร และร้อยเอ็ดจะมีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งแน่นอน” นายศักดิ์ศิริ กล่าว.-สำนักข่าวไทย