กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – สำนักงานชลประทานที่ 6 เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนร้อยเอ็ดกว่า 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เติมหน้าเขื่อนยโสธรสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค จ. ยโสธร อุบลราชธานี ส่วนนครราชสีมาผันน้ำจากเขื่อนลำตะคองช่วยพื้นที่นอกเขตชลประทาน อ.โนนสูง แต่พบการลักลอบสูบน้ำทำนาปรัง วอนใช้น้ำตามข้อกำหนด เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ได้ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำชีร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 7 จากสถานการณ์น้ำปัจจุบันหลายพื้นที่มีความเสี่ยงน้ำจะไม่เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยอ่างเก็บน้ำของเขื่อนในลำน้ำชีทั้ง 6 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อยมีอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยเฉพาะหน้าเขื่อนยโสธร จ. ยโสธร ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 7 ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ +122.30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ปริมาตรน้ำ 4.51 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23.88 ของความจุอ่าง เสี่ยงน้ำกินน้ำใช้จะไม่เพียงพอ
ดังนั้น สำนักงานชลประทานที่ 6 จะช่วยเหลือด้วยการเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ดสนับสนุนการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขายโสธร จากเดิมระบายอัตรา 25 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หรือวันละ 2.16 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเป็น 35 ลบ.ม./วินาที หรือวันละ 3.02 ล้าน ลบ.ม. รวม 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 – 25 กุมภาพันธ์ รวมปริมาตรน้ำที่เขื่อนร้อยเอ็ดจะระบายไปเติมหน้าเขื่อนยโสธรประมาณ 5.2 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเพิ่มระดับน้ำหน้าเขื่อนยโสธรและรักษาเก็บกักที่ +123.00 ม.รทก. จากปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ +122.30 ม.รทก. เป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคให้แก่ กปภ.ยโสธรและแม่น้ำชีตอนล่าง จ.ยโสธรและอุบลราชธานี จากการประเมินความต้องการใช้น้ำ คาดว่าจะมีน้ำกินน้ำใช้ไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน
สำหรับสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง เพื่อสนับสนุนพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในเขตอำเภอโนนสูง ซึ่งเป็นอยู่นอกเขตชลประทานมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 แต่ระหว่างทางเกษตรกรทำนาปรังจำนวนมาก ทั้งที่ไม่มีแผนสนับสนุนส่งน้ำเพื่อทำนาปรัง เกิดการลักลอบสูบน้ำ ทำให้มีน้ำเข้าพื้นที่เป้าหมายไม่พียงพอ ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในอำเภอต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณทางน้ำไหลผ่านจัดชุดเฝ้าระวังและติดตามน้ำทำให้ปริมาณน้ำไหลไปถึงในเขต ต.เมืองปราสาทและลำคอหงษ์มากขึ้น ส่วน ต.ธารปราสาทและหลุมข้าวนั้นน้ำยังไปไม่ถึงเนื่องจากต้องลำเลียงน้ำไปอีกเส้นทางคือ เส้นทางลำเชียงไกร อีกทั้งจำเป็นต้องลดปริมาณส่งน้ำลงเพื่อควบคุมปริมาตรน้ำในเขื่อนตามเกณฑ์การจัดการน้ำ รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำน้ำไปใช้ทำนาปรังเพิ่มขึ้น จากผลการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2562 ถึงปัจจุบันระบายน้ำไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 12 ล้าน ลบ.ม. โดยพื้นที่เป้าหมายรับน้ำไปแล้วประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. จากเป้าหมาย 3 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถบรรเทาการขาดแคลนน้ำได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ กรมชลประทานสั่งการให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พื้นที่ใดจัดรอบเวรส่งน้ำต้องควบคุมการสูบน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด อีกทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้.-สำนักข่าวไทย