ศูนย์ราชการฯ ตึกB 16 ธ.ค.-หลายภาคส่วนร่วมหาแนวทาง ป้องกันและแก้ปัญหาหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ ที่มีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นและรูปแบบการหลอกลวงที่เข้าถึงตัวประชาชนง่ายขึ้น
เครือข่ายเฝ้าระวังภัยออนไลน์ สัมมนาวิชาการ “การแก้ไขปัญหาการต้มตุ๋นหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อออนไลน์”โดยมีหลายหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปราม การหลอกลวงประชาชนจากสื่อออนไลน์ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตำรวจภูธรภาค1ร่วมในการให้ความรู้เกี่ยวกับข้อสังเกต ข้อกฎหมายต่างๆ
นายเดชาวัต แจ้งชื่น ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. กล่าวในการสัมมนาว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการชักชวนการลงทุนเปลี่ยนไป จากที่ผ่านมาผู้ถูกชักชวนให้ลงทุนส่วนใหญ่ถูกชักชวนผ่านตัวแทนหรือคนรู้จัก แต่ระยะหลังได้เปลี่ยนมาเป็นการชวนให้มีการลงทุนผ่านระบบออนไลน์ ทั้งผ่านโซเชียลมีเดีย Facebook กลุ่มไลน์ ซึ่งทำให้การตัดสินใจลงทุนเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว และสะดวก และพบว่าเมื่อมีการระดมทุนจนได้ ระดับที่พอใจแล้วก็จะปิดระบบหนี ที่ผ่านมามีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนผ่าน สคบ. จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่พบว่าการผู้เสียหายที่ถูกหลอกลงทุน ผ่านระบบออนไลน์นั้น ผู้เสียหายจะไม่เข้าข่ายกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพราะนิยามคำว่าผู้บริโภคคือผู้ที่ต้องซื้อสินค้าและบริการ แต่ผู้ที่เสียหายจากการลงทุนในระบบออนไลน์เข้าข่ายเป็นนักลงทุน กฎหมายจึงไม่สามารถคุ้มครองได้ โดย สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องและประสานเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมติดตามและแก้ปัญหา
ทั้งนี้ พบว่าการหลอกลวงทางระบบออนไลน์มีหลายรูปแบบ ทั้งการลงทุนออมทอง ลงทุนสกุลเงินตราต่างประเทศ และแชร์ลูกโซ่ ซึ่งการหลอกลวง ผ่านระบบออนไลน์จะทำให้ติดตามผู้ก่อเหตุได้ยาก จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง โดยมีข้อสังเกตสำคัญ หากเป็นการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบออนไลน์ให้ตรวจสอบอย่างละเอียด ผ่ายหน่วยงานต่างๆหรือตรวจสอบจากระบบออนไลน์หรือ Google และให้ตระหนักเสมอว่าถ้าเป็นการเสนอค่าตอบแทนหรือผลตอบแทนที่สูงเกินจริงก็น่าจะเป็นการหลอกลวงไม่ควรลงทุน
นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่าปัจจุบันมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงให้ลงทุนในระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผ่านระบบ Facebook กลุ่ม LINE ที่ปัจจุบันกลุ่มผู้หลอกลวงใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียในการหลอกให้คนลงทุน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานภาครัฐได้มีการให้ความรู้รวมทั้งมีข้อมูลในการเตือนให้ประชาชนตระหนักและไม่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งให้ใช้โซเชียลมีเดียในการตรวจสอบทั้งผ่านระบบ Google หรือตรวจสอบผ่านไว้งานของภาครัฐก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนผ่านออนไลน์ รวมทั้งหากตัดสินใจลงทุนควรลงทุนคนเดียว ไม่ควรชักชวนผู้อื่นร่วมลงทุนเพราะจะเข้าข่ายเป็นแม่สายแม่ข่ายแชร์ลูกโซ่ เมื่อเกิดปัญหาจากมีความผิดตามกฎหมาย แต่หากลงทุนคนเดียวจะได้รับการกันเป็นพยาน.-สำนักข่าวไทย