กรุงเทพฯ 7 ธ.ค.- ก.ล.ต.หนุนรัฐ ระบุกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) ช่วยสร้างวินัยการออม ด้าน เคทีซีมิโก้มอง กระทบตลาดหุ้นระยะสั้น และเป็นผลบวกมากกว่ากรณีที่ไม่มีกองทุนใหม่มาทดแทนLTF
นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป ดังนั้น ผู้ถือหน่วยจะไม่สามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก แต่การยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีครั้งนี้ไม่ได้เป็นการยกเลิกกองทุนที่มีอยู่ โดย ผู้ถือหน่วย LTF ยังคงลงทุนในกองทุนดังกล่าวต่อไปได้
โดยผู้ถือหน่วยที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้ว จำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขการถือครองให้ครบ 5 ปีปฏิทิน หรือ 7 ปีปฏิทินแล้วแต่กรณี (เช่น หน่วยลงทุนที่ซื้อในปี 2559 จะสามารถขายได้ในปี 2565)โดยหากขายหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดจะทำให้เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับไปแล้ว และต้องปฏิบัติ ดังนี้
1. นำเงินภาษีทั้งหมดที่ได้รับการยกเว้นไปคืนให้กับสรรพากร และเสียค่าปรับ 1.5% ต่อเดือน (นับตั้งแต่เดือนที่ได้คืนภาษีจนถึงเดือนที่นำภาษีไปคืน) และ
2. หากมีกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน ต้องนำเงินกำไรที่ได้ไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีที่ขายคืน เพื่อเสียภาษีเงินได้ (ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี)
LTF ในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 3.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.3% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) โดยมีปริมาณเงินเข้ากอง LTF เฉลี่ยต่อปี 2.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.15% ของ market cap
กองใหม่ SSF ได้สิทธิลดหย่อนวงเดียวกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ
สิทธิลดหย่อนภาษีของ LTF จะหมดไป แต่รัฐบาลมอบ “ของขวัญ” กล่องใหม่มาแทนที่ นั่นคือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) เพื่อส่งเสริมการออมสำหรับทุกคนรวมถึงผู้เริ่มต้นทำงาน กองทุนใหม่นี้มีนโยบายลงทุนที่หลากหลายไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่หุ้นเท่านั้น จึงเหมาะสมกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้ต้องลงทุนต่อเนื่อง จึงมีความยืดหยุ่นสำหรับผู้ลงทุนที่อาจมีเงินออมไม่แน่นอน โดยผู้ลงทุนจะต้องถือครองหน่วยลงทุนให้ครบ 10 ปี (นับวันชนวัน) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีกอง SSF ออกมาเสนอขายในต้นปี 2563
ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของ SSF ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยจะถูกนับรวมอยู่ในวงเดียวกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันแบบบำนาญ เป็นต้น) ที่กำหนดวงเงินรวมสูงสุดต้องไม่เกิน 500,000 บาท ตัวอย่างเช่น เงินได้ 50,000 บาทต่อเดือน รายได้ต่อปีคือ 600,000 บาทลงทุนใน SSF ได้ 600,000 x 30% = 180,000 บาท
การปรับปรุงสิทธิลดหย่อน RMF
รัฐบาลได้ขยายเพดานการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF จากเดิม 15% เป็น 30% ของเงินได้พึงประเมิน ทำให้ผู้มีรายได้ที่มีศักยภาพสามารถออมได้มากขึ้น ตัวอย่าง เงินได้ 50,000 บาทต่อเดือน รายได้ต่อปี คือ 600,000 บาทลงทุนใน RMF เดิมได้ 600,000 x 15% = 90,000 บาท ใหม่ได้ 600,000 x 30% = 180,000 บาท และเมื่อรวมกับ SSF ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ถึง 360,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกเงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท แต่ผู้ลงทุนยังคงต้องมีการลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน)
ความสำเร็จในการสร้างวินัยการออมของประชาชนผ่านการลงทุนในครั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มองเห็นโอกาสอันดีเพื่อช่วยกันสร้างรากฐานทางการเงินที่มั่นคงให้แก่คนในชาติของเรา
ด้าน บริษัท หลักทรัพย์เคที ซีมิโก้ จำกัด. วิเคราะห์ว่า SSF แม้จะเป็นปัจจัยบวกในระยะยาวต่อการเพิ่มเงินออมของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี แต่ในระยะสั้น เราคาดว่าจะเป็นปัจจัยลบทางอ้อมต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจาก
1) ปริมาณเม็ดเงินลงทุนใหม่ผ่านกองทุน SSF มีโอกาสที่จะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2018 ที่มีปริมาณซื้อสุทธิกองทุน LTF สูงถึง 7.1 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก วงเงินสูงสุดที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ถูกปรับลดจาก 5 แสนบาท เหลือ 2 แสนบาท และอาจมีปริมาณต่ำกว่านั้น หากต้องมีการนับรวมวเงินลดหย่อนภาษีจากกองทุนอื่นๆ เข้ามาด้วย และแรงจูงใจในการซื้อกองทุน SSF (LTF ใหม่) ปรับลดลง เนื่องจากสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี จะต้องถือครองนานขึ้นเป็น 10 ปีเต็ม (จากเดิม 7 ปีปฏิทิน) ทำให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีเป็นต้นไป อาจหันไปลงทุนกองทุน RMF ทดแทน
2) แรงขายกองทุน LTF เดิมที่ครบกำหนดอายุ มีโอกาสปรับสูงขึ้น (เม็ดเงินใหม่ที่สามารถขายได้ตั้งแต่ต้นปีหน้าอยู่ที่ 6.2 หมื่นล้านบาท) เพราะวิตกต่อมูลค่าสุทธิของหน่วยลงทุนอาจปรับลดลง เป็นผลจากลักษณะลงทุนของกองทุน SSF ใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นกองหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว (จากเดิม กองทุน LTF จะสามารถลงทุนได้เฉพาะกองทุนหุ้นไทยเท่านั้น) โดยสรุป แม้จะมีผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น แต่การมีกองทุน SSF ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาว ซึ่งถือว่าเป็นผลบวกมากกว่ากรณีที่ไม่มีกองทุนใหม่มาทดแทนเลย. – สำนักข่าวไทย