กรุงเทพฯ 18 พ.ย. – “เฉลิมชัย” หนุนเกษตรกร 882 อำเภอทั่วประเทศ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ห่วงภาคเกษตรใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินจำเป็น ทั้งขาดความรู้ เลือกใช้ไม่ตรงกับดินและชนิดพืช ซ้ำต้นทุนสูง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ให้นโยบายหน่วยงานในสังกัดเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองทุกพื้นที่จากวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรใช้มากเกินความจำเป็น ปุ๋ยอินทรีย์ยังช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้นและได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรเคยชินกับการใช้ปุ๋ยเคมีมาก ทำให้ประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมทั้งยังพบมีการเลือกใช้ปุ๋ยไม่เหมาะสมกับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช ยังขาดการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
“รมว.เกษตรฯ ห่วงใยปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง กรมจึงรับนโยบายมาดำเนินการ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรทราบและตระหนักถึงประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์หันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ของตนเอง ลดปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารให้แก่ดิน ทำให้ดินมีโครงสร้างโปร่งขึ้นเหมาะกับการชอนไชของรากพืช ทำให้ต้นพืชแข็งแรง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ในทางกลับกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างยั่งยืน” นายเข้มแข็ง กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2563 มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดดำเนินการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการผลิตและประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรหันมาผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 882 อำเภอทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์อย่างน้อย 1,543,500 ตัน ในพื้นที่ 882 อำเภอทั่วประเทศทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดจากการปลูกแล้วไถกลบปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า โสนแอฟริกัน ถั่วมะแฮะ และวัสดุอินทรีย์จากการไถกลบตอซัง โดยกำหนดให้แต่ละจังหวัดรายงานผลการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ผ่านทางระบบออนไลน์ให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย