สงขลา 16 พ.ย.- วันนี้จะพาคุณผู้ชมไปดูการผลิตผ้าสวยๆ จากภูมิปัญญาการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติของชาวบ้าน อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งหลายคนน่าจะยังไม่เคยรู้ว่า ยางกล้วย สามารถนำมาย้อมผ้าได้ แถมยังได้สีที่สวยงาม และมีคุณสมบัติแตกต่างจากสีย้อมชนิดอื่น จะสวยงามและดีอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ผ้าบาติกโทนน้ำตาล รูปแบบลวดลาย สีสัน ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่เหมือนใคร ผลิตขึ้นจากผ้าฝ้ายและย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือจากยางกล้วยเกือบ 100 เปอร์เซ็น ไม่ใช้สีเคมี เป็นผลงานของกลุ่มบาติกยางกล้วย บ้านหน้าถ้ำ วัดเขารูปช้าง ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ที่คนในชุมชนได้ร่วมกันรื้อฟื้นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ใช้ยางกล้วยในการย้อมเสื้อผ้า เพื่อให้มีความทนทาน สวมใส่แล้วเย็นสบาย เริ่มต้นจากปี 2537 ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบ เทคนิคการย้อม การให้สี และมีสินค้าทั้งผ้าชิ้น หมวก ผ้าพันพอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป หลากหลายรูปแบบทั้งชายหญิงให้ได้เลือกกัน
ผ้าบาติกยางกล้วย แต่ละชิ้นใช้เวลาในการผลิตอย่างน้อยถึง 7 วัน ต้องอาศัยความพิถีพิถัน หลายขั้นตอนกว่าได้ผ้าลายสวย สีติดทนนาน วัตถุดิบที่สำคัญคือยางกล้วย ซึ่งต้องใช้ยางจากกล้วยหินเท่านั้น ตัดรองน้ำยางจากบริเวณเครือ หรือนำปลีกล้วยต้มผสมกับน้ำยาง สีที่ได้จะเป็นโทนสีน้ำตาล แต่จะมีความเข้มข้นของสีต่างกันขึ้นกับระยะเวลาในการเคี้ยว ซึ่งไม่น้อยกว่า 1 วัน ผ้าบาติกของกลุ่มเน้นลวดลายธรรมชาติในท้องถิ่น อาทิ ใบตอง ใบบอน ใบตำลึง และแมลงตัวเล็กๆ แต่งเต้มด้วยยางกล้วยสีเข้มสุดลงบนผืนผ้าก่อน ตามด้วยสีที่อ่อนลง ผึ่งให้แห้ง ย้อมสีพื้น ต้ม และนึ่ง ทำซ้ำหลายครั้งเพื่อให้ผ้าอิ่มสี สวยงาม ใช้งานได้ยาวนาน
ล่าสุด กลุ่มบากติกยางกล้วย ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ของผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย หรือ CPOT จากกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น และจีน สร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ไว้ซึ่งภูมิปัญญา การย้อมผ้าด้วยยางกล้วย หนึ่งเดียวของไทย ให้คงอยู่สืบไป.-สำนักข่าวไทย