ตรัง 19 ก.ย. – อบต.น้ำผุด จ.ตรัง จับมือปราชญ์ชาวบ้าน สอนสานเสื่อจากต้นคล้า สืบทอดภูมิปัญญา 100 ปี ต่อยอดศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชน พัฒนาช่องทางการตลาด เสริมรายได้ชาวบ้าน

ที่วัดไร่พรุ ต.น้ำผุด อ.เมืองตรัง จ.ตรัง องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำผุด จัดกิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญาการสานเสื่อ โดยเป็นโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาชีพ ประจำปี 2567 ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ต.น้ำผุด จำนวน 20 คน ร่วมเรียนรู้การสานเสื่อจากต้นคล้า ตั้งแต่ลักษณะของต้นคล้า ซึ่งเป็นพืชในพื้นที่ จากนั้นเริ่มกรรมวิธีการสาน ด้วยการตัดต้นคล้า นำมาผ่าแล้วขูดไส้ออก จากนั้นนำไปตากแดด และตากน้ำค้างอีก 1 คืน รวมใช้ระยะเวลา 2 วัน จากนั้นนำมารีดออกให้เป็นแผ่นบางๆ ก่อนจะนำไปสานเป็นเสื่อ โดยครั้งนี้เป็นเสื่อลายสอง ซึ่งเป็นลายพื้นบ้านโบราณทั่วไป แต่ละคนแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันคนละหน้าที่ และช่วยกันสานเสื่อ โดยสานเสื่อจากต้นคล้า คนละ 1 ผืน
นางบุญเจือ พรหมสังข์ ปราชญ์ชาวบ้าน ต.น้ำผุด อ.เมืองตรัง กล่าวว่า ตนเองเป็นรุ่นที่ 2 ที่ได้สืบทอดการสานเสื่อจากต้นคล้า ซึ่งเป็นพืชในชุมชนน้ำผุด และสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษนับร้อยปีแล้ว สำหรับการเลือกต้นคล้าที่จะนำมาใช้สานเสื่อ จะเลือกต้นที่พอดีๆ ไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป การนั่งสานแต่ละครั้งล้วนทำมือทั้งหมด กว่าจะได้เสื่อแต่ละผืน ต้องใช้เวลา 2 วัน เพราะมีหลายขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านก็ยังนั่งสานกัน ราคาขายเริ่มต้นผืนละ 150 บาท

ด้านนายสมโชค คงแป้น ปลัด อบต.น้ำผุด กล่าวว่า อบต.น้ำผุด ให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ ทุกเครือข่าย ซึ่งกิจกรรมสานเสื่อจากต้นคล้านี้ เป็นกิจกรรมส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการสานเสื่อจากต้นคล้า มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ไม่มีการต่อยอด อบต.น้ำผุด จึงคิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยส่งเสริมและต่อยอด ให้ผู้สูงวัยและผู้ที่สนใจมาร่วมกิจกรรม เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังช่วยเสริมรายได้ให้กับครัวเรือนอีกด้วย นอกจากนี้ยังต่อยอดถึงการตลาด ซึ่งมีศูนย์รวมจำหน่ายอยู่ที่กลุ่ม อบต.น้ำผุด และยังเป็นศูนย์รวมของกลุ่มผ้าทอมือ ต.น้ำผุด ด้วย. – สำนักข่าวไทย