นราธิวาส 15 พ.ย.- รองผู้ว่าการ กยท.ล่องใต้ติดตามโรคระบาดสวนยางพารา และการใช้โดรนบินพ่นยาฆ่าเชื้อรา หลังพบระบาดแล้ว 6 จังหวัดใต้ หนักสุดนราธิวาส พร้อมประสานกระทรวงเกษตรฯ หาทางเยียวยาเกษตรกร
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร นายสุรชัย บุญวรรโณ ผอ.กยท.ภาคใต้ตอนล่าง ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผอ.สถาบันวิจัยยาง นายวีระ นุ้ยผอม ผอ.กยท.สาขาสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สวนยางพาราของเกษตรกร ต.ฆอเลาะ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาดต้นยางพารา หลังพบว่าเชื้อรา Pestalotiopsis sp. ระบาดมา 2-3 เดือน ทำให้ต้นยางมีลักษณะคล้ายกับการพลัดใบ และมีจุดเหลืองบนใบเหมือนรอยไหม้ ซึ่งเชื้อราชนิดนี้สันนิษฐานมีการแพร่ระบาดที่ประเทศเพื่อนบ้าน และกระแสลมที่พัดได้นำพาเชื้อราเข้ามาในพื้นที่ ล่าสุดพบการระบาดอย่างหนักในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส 9 อำเภอ อาทิ สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี แว้ง สุคิริน ระแงะ จะแนะ เจาะไอร้อง และศรีสาคร คิดเป็นเนื้อที่ 284,250 ไร่ โดยเฉพาะอำเภอแว้งระบาดหนักสุด 83,000 ไร่
พร้อมกันนี้ นายณกรณ์ ได้ติดตามการนำอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ขนาด 8 ใบพัด มีถังบรรจุสารเคมีขนาด 10 ลิตร ผสมสารกำจัดเชื้อราบินพ่นยอดยาง ซึ่ง 1 เที่ยวบินจะครอบคลุมพื้นที่ 2 ไร่ โดยจะบินพ่นยากำจัดเชื้อราเป็นพื้นที่ 300 ไร่ ให้แล้วเสร็จใน 1 สัปดาห์ และจะพ่นซ้ำให้ครบ 3 ครั้ง รวมทั้งมีทีมประเมินผลการพ่นยากำจัดเชื้อราครั้งนี้
นายณกรณ์ กล่าวว่า จะนำข้อมูลการระบาดของเชื้อรา Pestalotiopsis sp.ไปประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ส่วนช่วงนี้หากเป็นไปได้ขอให้ชาวบ้านงดกรีดยาง เพราะอาจกระทบต่อต้นยางพาราในระยะยาวที่มีอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง นอกจากพบการระบาดหนักในนราธิวาสแล้ว ยังพบอีก 5 จังหวัด คือ ยะลา สงขลา ตรัง พัทลุง และพังงา ทาง กยท.แต่ละพื้นที่จะมีการสนับสนุนยากำจัดเชื้อราแจกจ่ายให้กับกลุ่มตัวแทนชาวบ้านพร้อมโดรน 1 ลำ และเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการใช้ฉีดพ่นกำจัดเชื้อราจนกว่าสถานการณ์ของโรคแต่ละพื้นที่จะดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย