กรุงเทพฯ 15 พ.ย. – ก.เกษตรฯ สรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หลังแบน 3 สารเคมี 22 พ.ย.นี้ ด้านนักวิชาการด้านวัชพืชห่วงเกษตรกรถูกหลอกซื้อสารชีวภัณฑ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กำชับให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ซึ่งมีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานสรุปผลมาตรการต่าง ๆ ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้รองรับการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม ขณะนี้คณะทำงานฯ รวบรวมและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะระยะเร่งด่วนที่อาจจะต้องชดเชย เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากสารอื่นแทนพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ระยะต่อไปจะส่งเสริมให้ใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตร
ส่วนระยะยาว คือ การหาสารชีวภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ทดแทนสารเคมี โดยกรมวิชาการเกษตรรายงานว่า ปัจจุบันสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรมี 73 รายการ เป็นสารป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืชเท่านั้น ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดวัชพืช คณะทำงานฯ เห็นความสำคัญของการเร่งหาสารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดวัชพืช ซึ่งต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ ยอมรับว่าการรับรองหรือขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดวัชพืชยังมีความล่าช้า เนื่องจากมีขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพและความเป็นพิษตามหลักเกณฑ์ ซึ่งการจะเปิดให้ขึ้นทะเบียนได้ต้องแน่ใจว่าไม่มีผลกระทบต่อพืชประธานหรือพืชหลักที่ปลูกในแปลง
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ได้กำชับกรมวิชาการเกษตรให้ป้องปรามและควบคุมไม่ให้มีการจำหน่ายสารชีวภัณฑ์ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ตลอดจนเข้าไปให้ความรู้เกษตรกรไม่ให้หลงเชื่อ เนื่องจากอ้างว่าป้องกันกำจัดวัชพืชได้นั้น มีการผสมสารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืชลงไป มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรเปิดกว้างการขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ แต่ต้องทดสอบทางวิชาการแล้วว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย
นายรังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืชและวิทยาศาสตร์เกษตร ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีดีเอสไอจับกุมผู้ลักลอบขายสารป้องกันกำจัดวัชพืชโดยอ้างว่าเป็นสารชีวภัณฑ์ว่า เป็นห่วงเกษตรกรที่ถูกหลอกลวง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสารชีวภัณฑ์ใดที่มีฤทธิ์ป้องกันกำจัดวัชพืช แต่เมื่อมีกระแสต่อต้านการใช้สารเคมี จึงเป็นช่องว่างให้เกิดการหลอกลวง โดยนำพาราควอตหรือไกลโฟเซตผสมในสารที่แอบอ้าง
นายรังสิต ยืนยันว่า พาราควอตและไกลโฟเซตยังมีความจำเป็นต่อเกษตรกรป้องกันกำจัดวัชพืช ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ควรทบทวนมติ โดยกลับไปใช้มติเดิมที่ให้มีมาตรการจำกัดการใช้ อบรมให้เกษตรกรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้เกิดความปลอดภัย แต่หากนายสุริยะ ยังดึงดันที่จะลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด เกษตรกรจำนวนมากเดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแน่นอน เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นว่าภาครัฐมีมาตรการรองรับชัดเจนอย่างไร อีกทั้งหากใช้สารเคมีชนิดอื่น แต่เกษตรกรใช้ไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้บริโภคตามที่มีข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ.-สำนักข่าวไทย