กรุงเทพฯ 8 ต.ค.-จากกรณีนายประจักษ์ โพธิ์ผล นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา เข้าจับกุมเยาวชนวัย 15 ปี ขณะส่งมอบกระทงอาหารปลาพิมพ์ลายการ์ตูน โดยล่อซื้อผ่านเฟซบุ๊ก และเรียกค่าเสียหาย 50,000 บาท แต่ได้เจรจากันเหลือ 5,000 บาท เรื่องนี้กลายเป็นที่วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่าหากินกับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ อีกทั้งเด็กคนดังกล่าวอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เมื่อถามเรื่องการเก็บค่าลิขสิทธิ์ ก็ต้องถามพ่อค้าแม่ค้า และสถานที่ ที่เราเลือกไปก็ถือเป็นแหล่งค้าส่งสินค้าใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ คือ ย่านสำเพ็ง ที่นี่ใครอยากได้ของกิ๊ฟชอป สินค้าน่ารัก ๆ มีให้เลือกมากมาย รวมถึงสินค้าที่มีลวดลายการ์ตูนที่เป็นข่าวด้วย
เมื่อเข้าไปสอบถามเรื่องนี้กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าร้านต่าง ๆ เกือบทั้งหมดปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ แต่ก็พร้อมให้ข้อมูลอยู่บ้างโดยส่วนใหญ่มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นที่รู้กันอยู่ว่าที่นี่มีทั้งของที่ถูกลิขสิทธิ์ และไม่ถูกลิขสิทธิ์ขายปะปนกันไป เรื่องของการเข้ามาเก็บลิขสิทธิ์จากบริษัทต้นสังกัดก็มีอยู่แล้ว ลักษณะก็จะมากันเป็นกลุ่ม แล้วก็จะมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสินค้าในร้าน แล้วหากเจอสินค้าที่เข้าข่ายก็จะเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ถ้าไม่จ่ายก็จะต้องไปต่อสู้ตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
เมื่อถามว่าต้องจ่ายค่าอะไร เป็นเงินเท่าไหร่ก็ไม่มีใครอยากจะพูดเรื่องตัวเลข เราก็พยายามถามหาเจ้าของร้านใจดีที่จะสามารถให้ข้อมูลเรื่องลิขสิทธิ์ได้ จนเจอร้านขายของกิ๊ฟชอปร้านที่พร้อมจะให้ข้อมูล ว่าโดยปกติก็จะมีบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบอยู่แล้ว บางบริษัทก็ยอมความกันได้ จ่ายค่าปรับก็จบกันไป แล้วก็ไม่ขายสินค้านั้นอีก แต่บางสินค้าที่ขายดิบขายดี พ่อค้าแม่ค้าก็จะยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ โดยหนึ่งในบริษัท ที่ผู้ค้าจ่ายคือ บริษัท San-X ที่เป็นข่าวดูแลลิขสิทธิ์การ์ตูนริลัคคุมะ ค่าใช้จ่ายที่ตกลงจ่ายกันก็จะอยูที่ประมาณ 30,000 บาท จะมีสัญญาอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน เมื่อจ่ายเงินก็จะมีเอกสารยืนยันยินยอมให้ร้านสามารถขายสินค้าได้ ราคามาตรฐานที่บริษัทเรียกเก็บจะอยู่ที่ราคานี้ ไม่มีมาเรียกเก็บเยอะกว่านี้ เมื่อถามว่าคุ้มค่าไหม ถ้าขายได้เยอะ แล้วมีร้านสาขามากก็พอมองเห็นความคุ้มค่าที่จะจ่าย แต่ถ้าเป็นร้านเล็ก ๆ คงไม่คุ้ม
ในอดีตมักจะกลุ่มคนมาเก็บไม่เยอะส่วนใหญ่คุ้นหน้าคุ้นตากัน แต่กับสมัยนี้มีกลุ่มคนที่อาศัยช่องโหว่ สบโอกาสหากินง่าย ๆ ด้วยการไปซื้อใบอนุญาตเก็บค่าลิขสิทธิ์ แล้วมาไล่เก็บกับพวกร้านแผงลอย หรือตามต่างจังหวัด ส่วนกลุ่มที่แอบอ้างมาหากินลักษณะนี้ ที่สำเพ็งจะเคยเจอไหม ไปฟังเสียงคุณพี่ท่านนี้
ผู้ค้าท่านนี้ ยังแนะนำไปยังผู้ค้ารายอื่น ๆ หากมีคนมาเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ต้องดูเอกสารให้ครบถ้วน ว่ามาเก็บจากสินค้าอะไร และที่สำคัญขอให้มีสติ อย่ากลัวเพราะส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะมาข่มขู่สารพัดจนเราเกิดความหวาดกลัว จนต้องยอมทำตามที่บอก ถ้าไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ก็จะจ่ายค่าปรับไปก็มีเพื่อให้จบเรื่อง พร้อมกันนี้ยังเปิดเผยข้อมูลอีกว่า ด้วยความที่สำเพ็งมีการขายสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงของที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็มักจะมีคนบางกลุ่มที่อ้างว่าเป็นคนผู้หลักผู้ใหญ่มาเก็บค่าส่วยจากบรรดาผู้ค้าในสำเพ็งด้วย
บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ ของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2560 โดยครอบคลุมประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม ได้ออกประกาศชี้แจงระบุว่าบริษัท San-X เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์การ์ตูน 5 แบบ ได้แก่ Rilakkuma, Sumikko Gurashi, Sentimental Circus, Kamonohashikamo และ Mamegoma .-สำนักข่าวไทย