ทำเนียบฯ 6 พ.ย.- ครม.เห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าการบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ขยายความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศของอาเซียน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบพิธีสารอนุวัติ (เอกสารให้ดำเนินการตาม) ข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าการบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และจะนำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เนื่องจากเข้าข่ายมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ
สาระสำคัญ ร่างพิธีสารข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าการบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 มีสาระเช่นเดียวกับพิธีสารฉบับที่ 7 ที่ประเทศไทยลงนามไปแล้ว กล่าวคือ เป็นการขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามตารางข้อผูกพันแก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง รวมถึงการดำเนินการภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียน ที่ระบุให้ประเทศสมาชิกตั้งแต่สองประเทศหรือมากกว่านั้นอาจดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาการธนาคารของตน โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาอาจสรุปผลการเจรจา เวลาใดก็ได้
ซึ่งข้อผูกพันในร่างเอกสาร ฉบับที่ 8 นี้ เป็นการปรับปรุงข้อผูกพัน ใน 2 สาขา ได้แก่ 1) สาขาหลักทรัพย์ สาขาย่อยบริการจัดการลงทุน (Asset Management) เพื่อยกระดับ ข้อผูกพันให้เทียบเท่ากฎหมายและแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (ใช้ตั้งแต่ปี 2555) กล่าวคือ จะอนุญาตให้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการลงทุน ได้ถึงร้อยละ 100 ของทุนที่ชำระแล้ว โดยยกเลิกเงื่อนไขเดิมที่กำหนดให้ต้องมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยร่วมถือหุ้นอยู่ด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนที่ชำระแล้ว
2) ให้มีการเจรจาทวิภาคีเพื่อจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซียเข้าสู่ตลาดระหว่างกันได้บนหลักการต่างตอบแทน และให้มีความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การปรับปรุงข้อผูกพันจะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเชิงลึกและกว้างขวางมากขึ้นของประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เปิดโอกาสให้เอกชนไทยสามารถขยายการค้าและการลงทุนในสาขาบริการด้านการเงินออกไปยังประเทศอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะกฏหมายเรื่องการถือครองหุ้นในบริษัทจัดการลงทุนของประเทศไทยใช้ตั้งแต่ปี 2555 ผู้ประกอบการได้ปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจการลงทุน กว่าร้อยละ 95 ผู้ให้บริการเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ไทย
ส่วนการเจรจาเพื่อจัดตั้ง QABs จะเจรจาภายใต้กฏหมายที่มีอยู่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฏหมายปัจจุบัน ยึดหลักสิทธิประโยชน์ในแต่ละคู่สัญญา แต่ละทวิภาคีจะมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน .-สำนักข่าวไทย