นนทบุรี 31 ต.ค. – คณะบัญชี จุฬาฯ จัดทำฐานวิเคราะห์ประเภทโรงพยาบาลเอกชนเสร็จแล้ว เตรียมศึกษาโครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษา ชัดเจนก่อนเสนอกรมการค้าภายในบังคับใช้
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า หลังจากกรมการค้าภายในลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแนวทางการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อศึกษาวิเคราะห์กำไรส่วนเกินระหว่างราคาขายและต้นทุนที่เหมาะสมของยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้านการกำหนดราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา
ทั้งนี้ ได้ทำการวิเคราะห์และศึกษาการจัดแบ่งโรงพยาบาลเอกชนทั้งระบบชัดเจนแล้ว มีทั้งบริษัทแม่ บริษัทในเครือ บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด มูลนิธิ และบุคคลธรรมดา ซึ่งพบว่ามีผลต่อการกำหนดราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น ที่แปลกใจโรงพยาบาลในเครือที่มีหลายสาขา แต่การคิดค่ายาและบริการหรือเวชภัณฑ์ด้านต่าง ๆ มีราคาสูงเกินจริง ทั้งที่ระบบทางการตลาดต้นทุนการซื้อยาจะต้องมีราคาถูกลง แต่กลับคิดอัตราที่แพงพอสมควร บางโรงพยาบาลมีราคาสูงเกินความเป็นจริงหลายเท่าตัว ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปเมื่อมีฐานข้อมูลแยกกลุ่มและประเภทของโรงพยาบาลเอกชนทั้งระบบชัดเจนแล้วทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมที่ปรึกษาจะไปจัดทำฐานข้อมูลการบวกกำไร (มาร์จิ้น) ค่ายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการด้านต่าง ๆ กันต่อไป
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการจัดทำมาร์จิ้นจะพิจารณาเสร็จเร็ว ๆ นี้ หลังจากนั้นกรมการค้าภายในจะประกาศใช้ เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลเอกชนนำไปใช้คิดราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันกรมฯ จะใช้แนวทางเชิญชวนโรงพยาบาลเอกชนที่ดีไม่เอาเปรียบผู้บริโภคมาเข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลคุณธรรมที่ภาครัฐจะมอบตราสัญลักษณ์ให้กับโรงพยาบาลที่ดีและมีคุณธรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับโรงพยาบาลอีกด้วย และในอนาคตเชื่อมั่นว่าการวิเคราะห์ต้นทุนด้านต่าง ๆ ออกมาชัดเจนจะทำให้ระบบค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการด้านต่าง ๆ มีความถูกต้องและเป็นจริงมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย