นนทบุรี 30 ต.ค. – เปิดต้นแบบร้านสมาร์ทโชห่วย ใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการ ยกระดับร้านค้าปลีก เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าเปลี่ยนโฉมโชห่วยไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นร้านค้า ภายในปี 63
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโครงการ พัฒนาร้านค้าปลีกสู่สมาร์ทโชห่วย ว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกไทยระดับท้องถิ่น รวมถึงผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค และผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นมาช่วยยกระดับร้านโชห่วยดั้งเดิมของคนไทย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดตัวร้านสมาร์ทโชห่วยต้นแบบแห่งแรกที่มีการจัดร้านค้าให้มีความสะดวกต่อผู้ซื้อ การจัดผังร้านค้า และการเรียงสินค้าง่ายต่อการค้นหา มีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้เป็นระบบ เช่น การใช้เครื่อง POS เพื่อช่วยบริหารสตอกสินค้า และการทำบัญชีรายรับรายจ่าย การชำระสินค้าผ่าน QR Code รวมทั้งยังมีการจำหน่ายสินค้าชุมชน มุมกาแฟ และเริ่มให้บริการ เพื่อรับชำระค่าบริการต่าง ๆ ที่จะมาช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ร้านค้าโชห่วย
“การสร้างสมาร์ทโชห่วยครั้งนี้จะช่วยทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น กลายเป็น Outlet ใกล้ชิดชุมชนตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชนและสินค้า OTOP นำไปสู่การหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน บรรลุเป้าหมายตามแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายจุรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาร้านค้าปลีกทั่วประเทศให้ได้ 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2563 และจากนี้ไปร้านค้าในโครงการจะได้รับการพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ประกอบกับส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ มีทีมพี่เลี้ยงคอยช่วยให้คำปรึกษา ช่วยปรับภาพลักษณ์ร้านค้า การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการเชื่อมโยงสินค้า SME สินค้า OTOP และสินค้าชุมชนจากท้องถิ่น เพื่อเข้าไปจำหน่ายในร้านค้าช่วยเพิ่มรายได้ให้กับโชห่วยอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจของ The Nielsen Company (Thailand) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านสำรวจวิจัยการตลาด ระบุว่า ปี 2562 มีร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศ 443,123 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 4,303 ร้าน (ปี 2561 มีจำนวน 438,820 ร้าน) แสดงให้เห็นว่าร้านค้าโชห่วยกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่สะท้อนถึงการเป็นกลไกสำคัญในการเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ ซึ่งภาพรวมของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกจะพบว่าร้านค้าโชห่วยมีส่วนแบ่งในตลาดสูงเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 44.1 รองลงมาคือร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 31.8 และไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 24.1 อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย