กรุงเทพ 27 ต.ค.- รมว.พาณิชย์ เผย สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์จีเอสพีไทย ไม่เกี่ยวแบน 3 สารเคมี ชี้ผู้ส่งออกจะมีภาระจ่ายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เผย พ.ย.นี้เตรียมบุกตลาดใหม่ ขยายช่องทางการส่งออก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ผ่านรายการคู่ข่าวเสาร์-อาทิตย์ ช่อง MCOT HD ถึงกรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR ได้ออกประกาศว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP กับสินค้าของไทยเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 39,650 ล้านบาท โดยระบุว่าไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิ์ที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากลนั้น โดยจะส่งผลกระทบครอบคลุมทั้งของกินและของใช้ ตั้งแต่อาหารทะเล ผัก ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ น้ำตาล ซอสถั่วเหลือง ไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องครัว ไม้อัดและไม้แปรรูป เป็นต้น ว่า เรื่องจีเอสพีที่สหรัฐฯแถลงมานั้น ภาคเอกชนทราบดีและติดตามมาโดยตลอดอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทางสหรัฐฯ อ้างเรื่องแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น มีการอ้างว่าไทยยังไม่ยอมให้แรงงานต่างด้าวจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวในไทยได้ เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยใช้สิทธิ์ส่งออกสินค้าไปขายยังสหรัฐฯ ที่จะได้ใช้สิทธิ์จีเอสพีนั้น ไม่ถึง 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้สิทธิ์เพียง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าให้สหรัฐฯ แต่จากนี้ไปต้องเสียภาษีตามปกติ ซึ่ งจะมีภาระภาษี อยู่ที่ร้อยละ4-5
“ดังนั้นผลกระทบ ไม่ใช่อยู่ที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ทำให้ไทยเกิดความเสียหาย แต่นั่นคือมูลค้าการส่งออกรวม ซึ่ง 1,300 ล้านเหรียญ หรือราว 39,650 ล้านบาท แต่ผลกระทบจริงๆ คือ ต่อไปนี้วงกว่า 3 หมื่นล้าน ต้องเสียภาษีนำเข้า ตกมูลค่าประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท อันนี้คือสิ่งที่จะเป็นภาระกับผู้ส่งออกไทย” นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนไทยยังมีเวลาที่จะแก้ไขเรื่องนี้หรือไม่ เนื่องจากสหรัฐฯ จะตัดสิทธิ์ในปี 2563 นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่กระทรวงแรงงานจะดำเนินการต่อไป ส่วนกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า หากสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีปริมาณเท่าเดิม ต้องมีภาระจ่ายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ นั้น ทางกระทรวงได้เตรียมการไว้พอสมควรแล้ว โดยที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ในกลางเดือนพฤศจิกายน จะนำนักธุรกิจไปเปิดตลาดทั่วโลก ทั้งตลาดเดิมเพิ่มเติมตลาดใหม่ และฟื้นตลาดเก่าที่เคยสูญเสียไป รวม 10 ตลาดใหญ่ๆ ของโลก อาทิ ตุรกี เยอรมัน อินเดีย จีน และตะวันออกกลาง เช่น อิรัก ดูไบ รวมเอเชียใต้ เช่น ศรีลังกา ด้วย
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ยืนยันว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นถึงเหตุผลการระงับสิทธิ์ดังกล่าวของสหรัฐฯ ไม่เกี่ยวพันจากการที่ไทยระงับการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้ทำหนังสือมาให้ไทยทบทวนเรื่องดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย