นนทบุรี 24 ต.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์เชื่อมั่นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยจะขยายตัวต่อเนื่องในตลาดโลก แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะสินค้าไทยดีและมีคุณภาพสูง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกปัจจุบันจะมีมากขึ้น ซึ่งผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ ยกระดับค่าจ้าง พัฒนาทักษะแรงงาน เพิ่มเวลาว่างสำหรับพักผ่อน และที่สำคัญเป็นการเสริมสร้างเอกลักษณ์และความแปลกใหม่ให้กับสินค้าและบริการ และจากรายงานล่าสุดของ UNCTAD ขนาดตลาดสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของโลกขยายตัวขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 208,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2545 เป็น 509,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าร้อยละ 7 แม้ว่าโลกจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ ทวีปยุโรปเป็นผู้ส่งออกสินค้าเชิงสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุด แต่กลุ่มประเทศในเอเชียกำลังมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยจีนประเทศเดียวก็มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์สูงถึงร้อยละ 14 ระหว่างปี 2545-2558 เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ากลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกตั้งอยู่ที่เอเชีย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่โดดเด่นในตลาดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกมูลค่าถึง 6.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 200,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ของไทยสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และเป็นอันดับที่ 17 เมื่อเทียบกับทุกประเทศในโลก และขยายตัวก้าวกระโดดร้อยละ 6.6 ต่อปี ระหว่างปี 2548 และ 2557 และเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีสัดส่วนถึงร้อยละ 10-12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย ที่สำคัญไทยเป็นที่รู้จักดีในเวทีโลกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงถือเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสำหรับประเทศเป็นอย่างยิ่ง และในการส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศไทยจึงใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อาทิ อาหารไทย และหัตถกรรมไทย รวมทั้งงานศิลปะ สื่อสร้างสรรค์ และงานออกแบบ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศ สำหรับไทย สินค้าส่งออกเชิงสร้างสรรค์สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายใน และสินค้าแฟชั่น จึงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง การที่ทำให้สินค้าและบริการมีความแปลกใหม่และโดดเด่นกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดและขยายตัวของธุรกิจได้.-สำนักข่าวไทย