สมุทรปราการ 21 ต.ค.-เด็กชายติดเกมกราบเท้าขอโทษแม่ หลังคุมอารมณ์ไม่อยู่เกือบทำร้าย ด้านนักสตรีมเมอร์เกมเตือนสติต้องแยกแยะเกมกับความเป็นจริง กรมสุขภาพจิตแนะผู้ปกครองยื่น 3 ข้อตกลงกับลูก ก่อนเริ่มเล่นเกม
กรณีคลิปเด็กชายมีพฤติกรรมเล่นเกมจนสติแตก อาละวาดถึงขั้นทุบทำลายคอมพิวเตอร์ แถมยังคว้ามีดขู่ทำร้ายแม่และอาม่าที่เข้ามาห้ามปราม ขณะเกิดเหตุแม่ของเด็กชายได้คว้าหูฟังที่ใช้เล่นเกม บอกกล่าวกับเพื่อนๆ ในกลุ่มที่เล่นเกมด้วยกันว่า “ให้หยุดปั่นประสาทลูกชาย”
ก่อนจะระบายอารมณ์ด้วยการขว้างหูฟังทิ้ง เมื่อเด็กชายพบว่าหูฟังพังเสียหาย จึงแสดงอาการไม่พอใจ ด่าทอแม่ และคว้ามีดอีโต้พุ่งเข้าทำร้าย จนแม่และอาม่าต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอด เป็นกระแสดราม่าที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย
ล่าสุดผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปพบกับนางสาวสุริวัสสา พงษ์หิรัญทักษ์ อายุ 42 ปี คุณแม่ของเด็กชายคนดังกล่าว เปิดเผยว่า ลูกชายป่วยเป็นโรคจิตเวช ต้องคอยรับประทานยาเพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการกำเริบ โดยที่วันเกิดเหตุ ลูกชายถูกเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกันกลั่นแกล้งรุมยิงลูกชายและยั่วยุจนควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จนทำลายข้าวของและเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เล่นเกมอยู่ หลังมีคลิปเผยแพร่ไปมีชาวเน็ตออกมาวิพากษ์วิจารณ์ บางคนก็ด่าผู้ปกครองและเด็กชายคนดังกล่าวมากมาย จนเด็กชายเกิดความเครียด ลูกชายทำคลิปกราบขอโทษโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อลดกระแส ซึ่งตนเองก็ไม่ได้ถือสาโกรธลูกแต่อย่างใด นอกจากนี้เมื่อ 2 ปีก่อน เด็กชายคนดังกล่าวและเพื่อนได้เคยทำความดีเก็บกระเป๋าสตางค์ที่ตกส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหาเจ้าของคืนด้วย
ผู้สื่อข่าวได้พบกับนายอิทธิเดช รามมินิจ อายุ 22 ปี นักสตรีมเมอร์เกมที่ปรากฏชื่ออยู่ในคลิปเหตุการณ์ เล่าว่า คลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายคนอาจเข้าใจว่าตนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการคลุ้มคลั่ง และมีคนเข้ามาด่าตนมากมาย ที่จริงแล้วตนไม่ได้เล่นเกมกับน้องโดยตรง ขณะเกิดเรื่องได้มีน้องอีก 2-3 คน ที่เล่นเกมด้วยกันกับน้อง ซึ่งน้องแพ้เล่นเกมกับกลุ่มเพื่อน และมีการพูดคุยยั่วยุกัน จนทำให้น้องมีอาการคลุ้มคลั่ง ทุบคอมพิวเตอร์ และใช้มีดขู่ทำร้ายแม่ ขณะนั้นตนจึงโทรเฟซบุ๊กไปหาน้อง เพื่อพูดคุยเตือนสติน้อง หวังให้อารมณ์เย็นลง และทำความเข้าใจกับคุณแม่ของน้อง กระทั่งเหตุการณ์สงบลงด้วยดี น้องยอมกราบเท้าขอโทษคุณแม่ด้วยความสำนึกผิด
อย่างไรก็ตาม ยังฝากเตือนน้องๆ ที่ชอบเล่นเกมว่าต้องแยกแยะให้ออกระหว่างเกมกับความเป็นจริง เพราะตัวตนที่แสดงออกมาในการเล่มเกมมันคือการแสดงเพื่อความบันเทิง ที่สำคัญต้องเล่นเกมอย่างมีสติ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปี ค.ศ.2018 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศ “โรคติดเกม” (Gaming Disorder) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ ครอบครัว การศึกษา การงานอาชีพ และสังคม ซึ่งโรคติดเกมคือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสพติด ในทางสมองมีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก ส่วนใหญ่จะติดจากการเล่นเกมผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีอาการสำคัญดังนี้ 1.ใช้เวลาเล่นนานเกินไป 2.ขาดการควบคุมตนเองในการใช้ชีวิตปกติ เช่น การกิน การนอน และ 3.เสียหน้าที่ การเรียน และการงาน
ดังนั้น ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งง่ายกว่าการแก้ไขภายหลัง โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรทำข้อตกลง 3 ประการ ก่อนให้ลูกเริ่มเล่นเกม ดังนี้ 1.เวลา ควรแบ่งเวลาให้ลูกเล่นเกมอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการเล่นเกมวันละ 1- 2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรให้เล่นเกมในเวลาเรียน หรือเล่นในช่วงเวลากลางคืน 2.เนื้อหา ในส่วนของเนื้อหาต้องไม่มีความรุนแรง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กไปเสพข้อมูลความรุนแรงเพิ่มเติมจากทางอินเทอร์เน็ต และ 3.พฤติกรรม การเล่นเกมต้องไม่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ ไม่ยอมไปเรียน โดดเรียน ไม่กินข้าวตามเวลา ไม่ยอมนอน มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงทางกายและวาจา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องติดเกมไม่ใช่เป็นปัญหาแค่ตัวเด็ก แต่เป็นปัญหาของทั้งครอบครัวที่ต้องร่วมจัดการ หากไม่สามารถจัดการได้ ให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในสังกัดกรมสุขภาพจิต หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย