กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – นักวิชาการ ม.เกษตรระบุการใช้สมุนไพรกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชมีข้อจำกัดมาก ผลวิจัยพบพืชบางชนิดมีฤทธิ์ไล่แมลงได้ แต่ประสิทธิภาพขึ้นกับวิธีการสกัดและความเข้มข้น ส่วนผลการกำจัดวัชพืชนั้น วิจัยพบในพืชเพียง 1 ชนิด โดยใช้วัตถุดิบถึงครึ่งตันและมีประสิทธิภาพควบคุมวัชพืชได้เพียงไม่กี่อย่าง
นายสราวุธ รุ่งเมฆารัตน์ อาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่าจะให้กรมวิชาการเกษตรนำบัญชีพืชสมุนไพรไทยมาผสมทำสูตรกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชแมลงโรค รวมทั้งสูตรทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพเข้าสู่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เพื่อสามารถจำหน่ายได้ ประกอบด้วย สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก
นายสราวุธ กล่าวว่า พืชเหล่านี้บางชนิดมีคุณสมบัติไล่แมลงได้ โดยพืชแต่ละชนิดมีฤทธิ์จำเพาะเจาะจงในการใช้ไล่แมลงศัตรูพืชต่างกันไป ไม่เหมือนสารเคมีทางการเกษตรที่มีฤทธิ์ครอบคลุมกว่า อีกทั้งวิธีการสกัดและความเข้มข้นมีผลต่อประสิทธิภาพด้วย ส่วนคุณสมบัติด้านการกำจัดวัชพืชมีนักวิชาการเกษตรวิจัยพบว่าต้นประยงค์สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของหญ้าไม่กี่พันธุ์จากประมาณ 50 พันธุ์ในไทย รวมถึงต้องใช้วัตถุดิบสกัดประมาณ 500 กิโลกรัม ดังนั้น จึงยังเป็นต้นทุนที่สูงและหากควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชได้ไม่ดีพอจะส่งผลกระทบให้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตของพืชเศรษฐกิจลดต่ำลง
สำหรับ “ต้นประยงค์” เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-3 เมตร จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน ทางภาคเหนือเรียก “ขะยง ขะยม พะยงค์ และยม” ภาคกลางเรียก “ประยงค์บ้านและประยงค์ใบใหญ่” ส่วนภาคใต้เรียก “หอมไกล” เป็นต้น ต้นประยงค์มีสารกลุ่ม Cyclopentabenzofuran ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสาร Rocaglamide Odorine Aglain Lignanes และ Triterpenes สารเหล่านี้มีฤทธิ์ยับยั้งการกินอาหารของแมลง มีฤทธิ์ฆ่าแมลง ฆ่าตัวอ่อนของแมลง โดยเฉพาะแมลงวันผลไม้ ส่วนสารสกัดด้วยน้ำจากกิ่งอ่อนของต้นประยงค์มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของผักโขมและหญ้าข้าวนกและผักโขม.-สำนักข่าวไทย