นนทบุรี 21 ต.ค. – พาณิชย์เผยส่งออก ก.ย.ลดต่อเนื่อง ส่งผล 9 เดือน ลดลงร้อยละ 2.11 คาดทั้งปีติดลบร้อยละ 1 ย้ำปีหน้ามีโอกาสเป็นบวก แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีหลายปัจจัย แต่ทั่วโลกยอดติดลบเริ่มไม่มาก
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่า 20,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,206 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.2 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 3 ไตรมาส ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 186,572 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.1 การนำเข้ามีมูลค่า 179,191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.7 และการค้าเกินดุล 7,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ 3.1 สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 36.3 ตลาดฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย ลาว และไต้หวัน เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 14.6 ตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์ ไก่สด แช่แข็งและ แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.1 ตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จีน และมาเลเซีย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 7.7 ตลาดจีน สหรัฐ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัวร้อยละ 32.2 ตลาดแอฟริกาใต้ เบนิน โมซัมบิก แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐและแคเมอรูน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 35.2 ตลาดจีน อินโดนีเซีย และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่นและสหรัฐ ยางพารา หดตัวร้อยละ 15.4 ตลาดจีน เกาหลีใต้ และ อินเดีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐ กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.5 ตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แต่ยังขยายตัวตลาดจีนและแคนาดา รวม 3 ไตรมาสปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.2
นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.2 สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทองคำ ขยายตัวร้อยละ 110.6 ตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 31.5 ตลาดจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น กัมพูชา และเวียดนาม เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 15.9 ขยายตัวระดับสูงในตลาดสหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอาร์เจนตินา เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาดร้อยละ 15.1 ตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.4 ตลาดฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และเม็กซิโก อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ ขยายตัวร้อยละ 0.7 ขยายตัวระดับสูงในตลาดอินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดร้อยละ 16.2 ตลาดเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย แต่ยัง ขยายตัวในตลาดจีน และมาเลเซีย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 12.3 หดตัวในตลาด สหรัฐ ฮ่องกง และจีน แต่ยังขยายตัวในตลาดเม็กซิโก และสิงคโปร์ รวม 3 ไตรมาส ปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หด ตัวที่ร้อยละ 1.3
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ หากการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนเกินกว่า 20,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป โอกาสยอดส่งออกทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 0 หรือติดลบไม่เกินร้อยละ 1 เพราะขณะนี้แม้ปัจจัยเศรษฐกิจโลกจะชะลอ แต่ยอดส่งออกขณะนี้เริ่มชะลอตัวติดลบน้อยลง ไม่ใช่เฉพาะยอดส่งออกของไทยเท่านั้น หากเทียบกับหลายประเทศติดลบอัตราที่น้อยลง และยังมองว่าปีหน้า แม้สงครามสหรัฐกับจีนยังมีอยู่ หรือแม้ภาวะความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนยังมีต่อเนื่องโอกาสที่ไทยจะขยายตัวส่งออกได้ ดูจากมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนของไทยเกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จากการประเมินปีหน้าตัวเลขส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวร้อยละ 1-2 หรือมียอดส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 21,000-22,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีสมมติฐานจีดีพีไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.7-3 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ น้ำมัน 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย