ศาลรัฐธรรมนูญ 18 ต.ค.-“สมพร” ยืนยัน 8 ม.ค. “ธนาธร” กลับบ้านเซ็นโอนหุ้นวี-ลัค มีเดีย พร้อมหุ้นในเครือไทยซัมมิท ประเด็นเซ็นโอนให้หลานทดลองบริหารฟื้นฟูกิจการก็เรื่องจริง แต่จำต้องให้โอนกลับ เพราะต้องลงทุนเพิ่ม เผยตลอดชีวิตทำธุรกิจ 40 ปี ยึดมั่นในกรอบกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(18 ต.ค.) ในช่วงบ่าย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เบิกตัวนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นเป็นพยานในคดีหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยนางสมพร ยืนยันว่า การโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 เกิดขึ้นที่บ้านของนายธนาธร โดยกำหนดเวลาหลังเลิกงานแล้วให้มาเซ็นโอนหุ้นกัน ในส่วนของเอกสารทนายความเป็นคนจัดเตรียมมา โดยรายละเอียดมอบหมายให้นางลาวัลย์ จันทร์เกษม พนักงานบริษัทที่ดูงานด้านบัญชี และนางกานต์ฐิตา อ่วมขำ พนักงานที่ดูแลด้านการเงิน เป็นผู้ประสานโดยตรงกับทนายความ ในวันดังกล่าว ทราบว่านายธนาธรอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์แล้วจะนั่งรถกลับบ้าน เมื่อตนเดินทางไปถึงบ้านของนายธนาธร พบว่านายธนาธรและนายณัฐธนนท์ อภินันท์ ทนายความ ไปถึงก่อนแล้ว เพราะนัดไว้ในเวลา 18.00 น. ก่อนที่ตนจะเซ็นเอกสารได้อ่านดูคร่าว ๆ ว่าถูกต้องแล้วจึงเซ็นซื่อ ในวันดังกล่าวตนได้เตรียมเช็คมา 2 ใบเพื่อชำระค่าหุ้น สั่งจ่ายนายธนาธร 6,750,000 บาท โดยเช็คลงวันที่ 8 มกราคม 2562 ซึ่งตนไม่รู้ว่าเช็คจะนำไปขึ้นเงินเมื่อไร สำหรับค่าป่วยการทนายความไม่ต้องจ่ายเงินเพราะเป็นทนายความของพรรค
ต่อมาศาลได้พยายามซักถามกรณีหุ้นดังกล่าว ซึ่งมีปัญหาจากการไปจดแจ้งหลังวันที่นายธนาธรสมัครรับเลือกตั้ง นางสมพร กล่าวว่า ตนบริหารบริษัท 40 กว่าแห่ง ปกติการยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจะเคลียร์ให้เรียบร้อยก่อนยื่นงบดุล หลังการโอนหุ้นไม่ได้หมายความว่าเอกสารต้องทำเรียบร้อยในทันที ปกติก่อนการโอนหุ้นบริษัทอื่น ๆ จะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น แต่การโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ดำเนินก่อนช่วงก่อนสิ้นปี ทุกคนงานยุ่ง นายธนาธรก็เตรียมตัวมาเล่นการเมือง เขาต้องถอนหุ้นออกจากเครือไทยซัมมิททั้งหมด ในส่วนของบริษัท วี-ลัค มีเดีย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน จึงไม่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น
นางสมพร ยังชี้แจงถึงการโอนหุ้นให้หลายชาย 2 คนในวันที่ 11 มกราคม 2562 คือ นายทวี จรุงสถิตพงศ์ หรือบี และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ หรือ เอ เนื่องจากตนเสียดายที่ต้องปิดบริษัท วี-ลัค มีเดีย เพราะนางรวิพรรณที่เคยบริหารจนกิจการมีผลประกอบการดี ก็มีลูกตามมาติด ๆ อีกหลายคน จึงอยากให้หลานเข้ามาทำบริษัท ไม่ใช่บริษัทขาดทุนแล้วอยากปิดบริษัท โดยนายทวี เรียนจบนิเทศศาสตร์มาโดยตรง มีความสนใจ จึงขอให้นายปิติ มาช่วยเพราะบริษัทวี-ลัค มีเดีย ไม่มีพนักงานเหลืออยู่แล้ว ตนจึงตกลงโอนหุ้นทั้ง 2 ก้อนไปให้หลานชาย เพื่อฟื้นฟูบริษัท เป็นการโอนให้หลานไม่ใช่การขาย ซึ่งหลานทั้ง 2 คนนี้ เป็นหลานแท้ ๆ พี่ชายคนโตของตนเสียชีวิตไปเกือบ 20 ปี ที่ผ่านมา ตนอุ้มชูหลานทั้ง 2 คนมาตลอด หลังจากหลานไปเรียนรู้แผนงาน ได้กลับเสนอตนให้ลงทุนเพิ่มในบริษัท วี-ลัค มีเดีย อีกหลายล้านบาท แต่ตนตัดสินใจไม่ลงทุนเพิ่ม เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่ตกเทรนแล้ว จึงให้หลานทั้ง 2 คนโอนหุ้นกลับมา จากนั้นจึงมีการเจรจากับลูกหนี้บางรายให้ทยอยจ่ายหนี้ โดยลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่งเพื่อให้สามารถปิดบัญชีได้เร็ว จึงเป็นเหตุให้การปิดบัญชีบริษัทฯ ทำได้ในเดือนมิถุนายน 2562
“เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 23 ปีหลังเรียนจบจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อแฟนมาจีบก็แต่งงานเมื่ออายุ 24 ปี จนถึงขณะนี้อายุ 68 ปีแล้ว ในการบริหารงานตลอด 40 ปี ยึดมั่นในกฎหมาย รวมถึงกรอบเวลาต่าง ๆ ในกฎหมาย แต่การโอนหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย แตกต่างจากหุ้นบริษัทอื่น เพราะเป็นการโอนหุ้นภายในกันเอง จึงไม่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น นอกจากนั้น ในวันที่ 8 มกราคม 2562 มีการเซ็นโอนหุ้นในเครือไทยซัมมิทหลายบริษัท แต่มีการชำระเงินเฉพาะบริษัท วี-ลัค มีเดีย ส่วนหนึ่งเพราะต้องการปิดบริษัทนี้ และการนำเงินจำนวนมากมาชำระค่าหุ้นหลาย 10 บริษัทต้องใช้เวลาเตรียมการนานพอสมควร ส่วนการโอนหุ้นให้หลานชายทั้ง 2 คน ก็เป็นการโอนให้ไปบริหารฟรี ๆ แต่ในต้นขั้วเอกสารระบุว่ามีการชำระค่าหุ้นในราคาพาร์ 10 บาท” นางสมพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในการไต่สวนพยานปากนางสมพรเป็นไปอย่างผ่อนคลาย ศาลไม่ได้ซักถามอย่างกดดันหรือตึงเครียด เมื่อเห็นว่านางสมพรไม่เข้าใจหรือมีอาการงุนงงกับคำถามของทนาย ฝ่ายผู้ถูกร้อง ศาลก็ช่วยอธิบายคำถาม พร้อมระบุว่าทนายความซักคุณแม่เวียนหัวเลย ขณะที่นางสมพรได้เบิกความด้วยอาการตื่นเต้น กล่าวคำเรียกแทนตัวเองว่าข้าพเจ้าบ้าง หรือหนูบ้าง หลังเสร็จสิ้นการเบิกความ นางสมพรยกมือไหว้ขอบคุณศาล พร้อมกล่าวว่า “หนูก็ตื่นเต้น”-สำนักข่าวไทย