กรุงเทพฯ 8 ต.ค.-ภาพยนตร์เรื่อง “โจ๊กเกอร์” ที่ออกฉายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย กำลังสร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้ชมที่ป่วยโรคซึมเศร้า หรือ เด็ก อาจทำพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงของตัวละคร “โจ๊กเกอร์” ขึ้นได้ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญการชมภาพยนตร์เห็นตรงกันว่าคน 2 กลุ่มนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับชม
จิรายุทธ โชคประเสริฐ แอดมินเพจขอบสหนังที่มีผู้ติดตามเพจกว่า 800,000 คน บอกว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ไปดูหนังโจ๊กเกอร์มาแล้ว เขาไม่เห็นด้วยที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและเด็ก จะดูหนังเรื่องนี้เนื่องจากหนังมีเนื้อหาไม่ตลกสมชื่อ เป็นหนังชีวิต เชิดชูความรุนแรง เล่าความเป็นมาของจอมวายร้ายในคราบตัวตลก เด็กอาจแยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งที่โจ๊กเกอร์ตัวแสดงนำของเรื่องทำมันผิด ผู้ป่วยซึมเศร้าอาจเลือกตัดสินปัญหาเหมือนตัวละคร ในสหรัฐอเมริกา บ้านเกิดของโจ๊กเกอร์ ออกมาตรการเข้มงวดสำหรับผู้ที่ไปชม เช่น ห้ามใส่หน้ากากโจ๊กเกอร์มาดูหนัง เนื่องจาก 7 ปีก่อน เคยมีคนร้ายแต่งกายเลียนแบบโจ๊กเกอร์ กราดยิงผู้ชมภาพยนตร์เสียชีวิตจำนวนมาก เขายกตัวอย่างประสบการณ์ของแฟนเพจหลายคน ที่ไปดูโจ๊กเกอร์แล้วเกิดความเครียด–จิตตก บางคนถึงเข้าโรงพยาบาล
แอดมินเพจขอบสหนัง มีประสบการณ์ดูหนังมากกว่าหนึ่งพันเรื่อง บอกว่าในอดีตเคยมีซีรีส์ต่างชาติ เรื่อง 13 บันทึกลับหัวใจสลาย ซึ่งตัวละครนำของเรื่องฆ่าตัวตายเพราะถูกล้อเลียนด้านรูปร่าง การศึกษา และอื่นๆ ก็เคยมีเด็กที่ชมเรื่องนี้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเลียนแบบตัวละครมาแล้ว
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย วิเคราะห์พฤติกรรมรุนแรงของโจ๊กเกอร์ในภาพยนตร์ เกิดมาจาก 3 สาเหตุ คือ ความรุนแรงที่รับมาจากบุคคลในครอบครัวเมื่อครั้งยังเด็ก ตอนเด็กถูกเพื่อนล้อเลียน และความรุนแรงจากเพื่อนร่วมงาน หล่อหลอมจนกลายมาเป็นโจ๊กเกอร์ อาชญากรฆ่าคน อย่างไม่รับรู้ ผิด ชอบ ชั่วดี
คุณหมอยงยุทธ เห็นว่าเด็กและผู้ป่วยซึมเศร้า ไม่ควรดูหนังโจ๊กเกอร์ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่เคยถูกล้อเลียน ส่วนผู้ป่วยซึมเศร้า มีสภาพจิตใจเปาะบาง แนะนำให้ดูหนังแนวอื่น ที่ไม่สร้างภาวะกดดันให้กับตัวเอง.-สำนักข่าวไทย