กรุงเทพฯ 1 ต.ค.- สาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในภาคกลาง ต้องเผชิญกับฝุ่นละออง PM 2.5 เพราะมวลอากาศเย็น และลมที่พัดเข้ามาเป็นลมเหนือ และลมตะวันออก ทำให้สภาพอากาศนิ่ง แต่ในวันนี้ต่อเนื่องไปจนสุดสัปดาห์ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนเพิ่ม และมีฝนตก ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นได้
แม้จะเข้าสู่ช่วงเที่ยงวัน แต่บรรยากาศที่เห็นอยู่นี้ แทบไม่แตกต่างจากช่วงเช้า และเหมือนมีหมอกปกคลุมอยู่ในอากาศ แต่ในเป็นความจริง นี่เป็นฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้ทัศนวิศัยในการมองเห็นต่ำ สังเกตจากอาคารที่มองไม่ชัด
วันนี้กรมควบคุมมลพิษรายงานฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เกินเกณฑ์ในหลายพื้นที่ โดยจุดที่พบค่าฝุ่นละอองสูงสุดในบ่ายวันนี้ คือ ริมถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลม มีปริมาณค่าฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 73 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ข้อมูลชุดนี้ยังสอดคล้องกับภาพถ่ายจากดาวเทียมโมดิสของจิสด้า ที่พบมีสีส้มกระจายอยู่บริเวณกรุงเทพฯ และจังหวัดภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แสดงให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีฝุ่นละออง PM 2.5 กระจุกตัวอยู่
ดาวเทียมตัวนี้ยังสามารถตรวจจับจุดความร้อน หรือจุดฮอตสปอต ซึ่งขณะนี้พบหลายจุดเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในภาคกลาง นักภูมิสารสนเทศให้ข้อมูลว่า จุดความร้อนเกิดจากการเผาป่า และการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ซึ่งถือเป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง 1 อาทิตย์ พบว่ามีฝุ่นละออง PM 2.5 กระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว แต่ที่ทำให้ 2-3 วัน มานี้เริ่มวิกฤติ เพราะสภาพอากาศอากาศปิด ทำให้ฝุ่นไม่เคลื่อนตัว
การเคลื่อนตัวของลมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ส่งผลถึงปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างภาพนี้ แม้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามา แต่ทิศทางลมที่พัดเป็นลักษณะวน ทำให้ฝุ่นไม่กระจายตัว แต่ในช่วงสัปดาห์หน้ามีการคาดการณ์ว่า กระแสลมจะพัดกระจายมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากรองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า หลังจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม กรุงเทพฯ จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น เป็นร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ เพราะมีลมทะเลที่พัดความชื้นเข้ามา และเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่มาปกคลุมแล้ว ทำให้อากาศแปรปรวน และจะมีฝนตกลงมาช่วยบรรเทาปัญหา
แม้มีการคาดการณ์ฝนที่จะตกลงมาในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ได้ แต่หลังจากนี้ที่ฝนเริ่มลดลง เพราะเปลี่ยนฤดูฝนไปฤดูหนาว ก็อาจทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อีก เพราะในช่วงหน้าหนาวอากาศจะเย็นและนิ่ง ทำให้ฝุ่นไม่ลอยตัว โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีการก่อสร้าง และปริมาณรถที่หนาแน่น.-สำนักข่าวไทย