ธปท. 8 ส.ค. – นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ประชาชนส่วนใหญ่มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะต่อไป เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองหมดลง เพราะจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมพที่วางไว้และจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการลงทุน เพราะนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่าผลที่แตกต่างกันระหว่างภูมิภาคสะท้อนถึงความขัดแย้งที่มีอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนทราบกันอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ผลจากการรับประชามติยังส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนได้ชัดเจนจากการที่ดัชนีราคาหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 21 จุดในช่วงเช้าวันนี้ (8 ส.ค.) ขณะที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 35.01-35.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่าระยะสั้นจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ปัจจัยภายนอกยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางค่าเงินบาท โดยเฉพาะการที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ดังนั้น ขอให้เอกชนและนักลงทุนอย่าชะล่าใจ เพราะปัจจัยภายนอกยังมีความสำคัญมาก
ขณะที่ในงานเสวนา “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ” นายวิรไท กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยประสบกับความผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นและความผันผวนจะลดลงบ้าง แต่การฟื้นตัวไม่กระจายทุกภาคส่วน และยังมีความเปราะบาง ซึ่งการมุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้น ๆ อาจทำให้ยังเผชิญปัญหาที่หนักและใหญ่กว่าเดิม คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะแสดงอาการออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 3-4 ต่อปี จากเดิมขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7-8 ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จนกลายเป็นว่าอัตราการเติบโตต่ำ เป็นภาวะปกติใหม่ของเศรษฐกิจ ทำให้ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางและหลายประเทศมีรายได้ประชากรแซงหน้าประเทศไทย
ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการขาดการลงทุนเป็นเวลานาน ความล้าหลังด้านเทคโนโลยีการผลิต การขาดแรงงานทักษะ ความขัดแย้งทางสังคม ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่สามารถแก้ปัญหาระยะเวลาสั้น ๆ ดังนั้น ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การสร้างความกินดีอยู่ดีให้คนไทย ครอบคลุมถึงการกระจายรายได้และมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน มากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ธปท. จึงร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดสร้างโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทำการวิจัยเป็นระยะเวลา 3 ปี แนะนำการแก้ปัญหาใน 3 มิติ คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาวอย่างยั่งยืน
ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยไม่สามารถแก้ได้ด้วยการเมืองเพียงอย่างเดียว แม้ว่าประชาชนจะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อวานนี้ เพราะเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่การกระจายอำนาจการเมืองสู่ท้องถิ่น หลักการสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ การกระจายอำนาจทางการเมืองสู่ท้องถิ่นให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ เพื่อให้มีผู้นำชุมชนแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นเอง แต่ยอมรับว่าการที่ประชาชนรับร่างรัธรรมนูญจะทำให้มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งปีหน้า แต่จะมีผลเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐ.- สำนักข่าวไทย