อุบลฯ 22 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่อุบลฯ ช่วยคลี่คลายวิกฤติน้ำท่วม เร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรเพื่อเยียวยา ระดมแผนฟื้นฟูอาชีพสร้างรายได้เร่งด่วน 120 วัน แจกเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว ข้าวโพด พันธุ์สัตว์น้ำ และปล่อยกู้เลี้ยงโคเนื้อรายละ 120,000 บาท
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชน พ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดเทศบาลเมืองอุบลราชธานี และตรวจสถานการณ์น้ำแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย และศูนย์พักพิงชั่วคราวบริวเวณสะพาน 100 ปีอำเภอเมืองอุบลราชธานี ต่อจากนั้นขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปอำเภอพิบูลมังสารหารและโขงเจียม เพื่อตรวจพื้นที่น้ำท่วมพร้อมทั้งมองถุงบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตปกติโดยเร็วที่สุด ขณะนี้กรมชลประทานเพิ่มผลักดันน้ำเป็น 320 เครื่อง ที่เขื่อนธาตุน้อย สะพานพิบูลมังสาหาร และปากแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียม ทำให้ระบายน้ำเร็วขึ้นร้อยละ 30-40 ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบประชาชน เช่น ถ้าน้ำท่วม 10 วันจะเหลือแค่ 7 วัน ขณะนี้กรมชลประทานเร่งผลักดันน้ำออกแม่น้ำโขงอย่างเต็มที่ จากที่คาดการณ์ว่า น้ำที่หลากท่วมจะลดลงสู่ระดับตลิ่งประมาณต้นเดือนตุลาคมนั้น ไม่เกินวันที่ 29 กันยายนน้ำจะกลับสู่ลำน้ำแล้ว ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำเตรียมเครื่องสูบน้ำ 200 เครื่องเพื่อเร่งสูบน้ำออก แต่ได้มอบนโยบายให้นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานว่า ให้หาพื้นที่สาธารณะทำเป็นแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งด้วย หากเกษตรกรต้องการเก็บน้ำไว้สำหรับปลูกพืชน้ำน้อยให้เก็บไว้ในแปลงนาได้
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ภายใน 1 สัปดาห์จะเร่งสำรวจความเสียหายทั้งหมด ส่วนมาตรการเยียวยาและกรอบวงเงินงบประมาณจะเสร็จสิ้นใน 1 เดือน เพื่อเร่งเสนอเข้า ครม.ของบกลางปี 2562 มาช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้สำรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชนเพื่อจะเสนอ ครม. ขอเพิ่มงบประมาณสำหรับซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้เป็นรายครัวเรือน รัฐบาลจะช่วยตามความเสียหายจริง นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการฟื้นฟูอาชีพมีรายได้ใน 120 วัน ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผัก พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้านประมงนั้นจะสนับสนุนลูกพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ปลานิลและกุ้ง โดยกำหนดอายุลูกพันธุ์ให้มีขนาดโตพอที่จับขายได้ใน 2-4 เดือน ส่วนโครงการส่งเสริมเลี้ยงโคเนื้อนั้นจะสนับสนุนเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้เกษตรกรไปซื้อโค 5 ตัวต่อครัวเรือน ระยะเวลาขุน 120 วัน ซึ่งได้ใช้นโยบายการตลาดนำการเกษตรหาตลาดไว้รองรับผลผลิตทุกชนิดแล้ว
“หากประชาชนต้องการให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถแจ้งไปยังเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด รวมทั้งหน่วยราชการอื่น ๆ สังกัดกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงศูนย์ดำรงธรรม เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย หากแจ้งข้าราชการแล้วไม่ไปทำให้แจ้งมาที่รัฐมนตรี เพราะนายกฯ ห่วงใยประชาชนและเกษตรกรทุกคน สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนทำการเกษตรไว้ให้รีบแจ้งเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัด โดยอาจให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านรับรองว่าทำการเกษตรจริง เพื่อรับค่าเยียวยาจากภัยพิบัติครั้งนี้ เพื่อจะได้ช่วยเหลืออย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับฟังปัญหาของผู้ประสบภัยในจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และยโสธร ซึ่งนายกฯ ต้องการให้ช่วยกันทำให้ชาวบ้านมีรายได้โดยเร็วที่สุด รัฐบาลเตรียมงบชดเชยน้ำท่วมตอนนี้ไว้หลายหมื่นล้านบาท แต่ปัญหาใหญ่ คือ นาข้าวหอมมะลิเสียหายมาก ดังนั้น อาจมีปัญหาขาดแคลนข้าวหอมมะลิและราคาอาจแพงขึ้น ชาวบ้านจะปลูกรอบ 2 ก็ไม่ได้ เพราะเป็นข้าวไวแสง อีกไม่นานจะเข้าหน้าแล้งแล้ว ส่วนข้าวอายุสั้นนั้น ชาวนาภาคอีสานก็ไม่อยากปลูก
นายประภัตร กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอโครงการเสริมรายได้หลังน้ำลดคือ ปลูกถั่วเขียว โดยแจกเมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัม/ไร่ ประกันราคาซื้อ 30 บาท ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยให้เมล็ดพันธุ์ 3.5 กิโลกรัม/ไร่ รายละไม่เกิน 10 ไร่ ประกันราคา 8 บาท และโครงการโคขุนสร้างรายได้ส่งออกไปจีน โดยมีเป้าหมาย 1 ล้านตัว โดยกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนเงินกู้รายละ 120,000 บาท ซื้อลูกโค 5 ตัว ตัวละไม่เกิน 24,000 บาท และมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 250 กิโลกรัม รัฐสนับสนุนเบี้ยประกันวัวตัวละ 100 บาท/เดือน กำหนดระยะเวลาเลี้ยง 4 เดือน โดยเลี้ยงในคอกของตนเอง รวมถึงสนับสนุนเครื่องผสมอาหารตามสูตรของกรมปศุสัตว์ ให้กลุ่มละ 500-1,000 ตัว อีกทั้งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะวางระบบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ 1 บ่อ ใช้ประโยชน์ได้ถึง 700 – 1,000 ไร่ และรัฐบาลช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3% และเกษตรกรออกเองร้อยละ 1 หากวัวตายจะได้รับค่าชดเชยจากการประกัน
“จากการพูดคุยและสอบถามความคิดเห็นของเกษตรกร ส่วนใหญ่เห็นด้วยและประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ สำหรับการทำเกษตรหน้าแล้งได้ประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ที่เกษตรกรจะปลูกพืชไร่ต่าง ๆ นอกจากนี้ วันที่ 23 กันยายนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เป็นคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อวางมาตรการฟื้นฟูอาชีพและเพิ่มรายได้ประชาชน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเสนอโครงการเสริมรายได้ตามที่กำหนดไว้” นายประภัตร กล่าว
ด้านศูนย์ปัองกันและบรรเทาพิบัติภัย กระทรวงเกษตรฯ รายงานถึงผลกระทบพื้นที่เกษตรตั้งแต่เกิดฝนทิ้งช่วง 24 สิงหาคมถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านการเกษตร 25 จังหวัด เกษตรกร 529,443 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 3,291,139ไร่ แบ่งเป็นข้าว 2,995,221 ไร่ พืชไร่ 270,392 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 25,526 ไร่ เบื้องต้นสำรวจความเสียหาย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย มุกดาหาร ร้อยเอ็ด สกลนคร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ เกษตรกร 18,550 ราย พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง 202,516 ไร่ ความเสียหายประมาณ 225.70 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์เสียหาย 17 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 44,576 ราย ด้านประมงเสียหาย 19 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 30,107 ราย โดยจะเร่งสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่น้ำลดทุกพื้นที่ภายใน 1 สัปดาห์ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย