กรุงเทพฯ 22 ก.ย. – เงินบาทกลับมาแข็งค่าช่วงปลายสัปดาห์ คาดสัปดาห์หน้า 30.30-30.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตา กนง. 25 ก.ย.นี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-20 ก.ย.) เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มจำกัดลง ประกอบกับธนาคารกลางหลายประเทศยังไม่ลดดอกเบี้ยลงตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้ว่าจะยังคงส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินก็ตาม โดยวันศุกร์ (20 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 30.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ก.ย.)
สำหรับสัปดาห์หน้า (23 – 27 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท 30.30-30.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่ตลาดรอติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม กนง. วันที่ 25 กันยายน ขณะที่จุดสนใจในต่างประเทศ ได้แก่ ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และสัญญาณดอกเบี้ยจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI เบื้องต้น และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนสิงหาคม ดัชนีราคาบ้านเดือนกรกฎาคม และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2562
ด้านดัชนีหุ้นไทยปรับลงจากแรงฉุดของหุ้นกลุ่มพลังงานและตัวเลขส่งออกไทยเดือนสิงหาคม โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,636.20 จุด ลดลง 1.55% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65,077.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.73% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 2.16% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 346.76 จุด สัปดาห์หน้า (23-27 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,630 และ 1,610 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,660 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของ กนง. ประเด็นการค้าสหรัฐ-จีน และสถานการณ์ BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/62 ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนสิงหาคม รวมถึงดัชนี PMI Composite เดือนกันยายน ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ ดัชนี PMI Composite เดือนกันยายนของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมของจีน.-สำนักข่าวไทย