สธ.17 ก.ย.-รมว.สาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกำชับจังหวัดน้ำท่วม ยา เวชภัณฑ์จำเป็นต้องมีเพียงพอตลอดเวลาพร้อมดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบภัยต่อเนื่องป้องกันการสูญเสีย
วันนี้ (17 ก.ย.) ที่ห้องประชุม 506 ทำเนียบรัฐบาล กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ในพื้นที่ 32 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ว่า ขอให้พื้นที่ให้ความสำคัญเรื่องการบริการประชาชนเป็นหลัก ผู้บริหารในพื้นที่ต้องประสานงานกับส่วนราชการอื่นๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือ ที่สำคัญคือให้ระดมสรรพกำลังเต็มที่ในการช่วยเหลือ อย่าให้กฎระเบียบต่างๆ มาเป็นอุปสรรคในการทำงานเพื่อประชาชน หากอะไรอยู่นอกเหนืออำนาจการตัดสินใจของพื้นที่ให้ประสานมายังส่วนกลาง โดยเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ต้องเพียงพอต่อการให้บริการประชาชนตลอดเวลา และในพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงเข้าถึงยาก ขอให้ อสม. ดูแลถึงบ้านอย่าให้ขาดยา
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า น้ำท่วมครั้งนี้มีผู้ประสบภัยจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 384 ทีม ให้การรักษา 9,519 ราย ให้สุขศึกษา 14,760 ราย ทีมหมอครอบครัว เยี่ยมบ้านดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก รวม 10,748 ราย จัดหน่วยแพทย์และทีมสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมดูแลประชาชนที่จุดพักพิงที่มี 91 แห่งจำนวนกว่า 22,000 คน และเฝ้าระวังป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม ด้านจิตใจพบมีภาวะเครียดกว่า 300 ราย ในจำนวนนี้มี 19 ราย ที่เสี่ยงการฆ่าตัวตาย มอบให้กรมสุขภาพจิตดูแลเป็นพิเศษแบบตัวต่อตัว หากเป็นไปได้ให้รับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย
“ผม และรัฐมนตรีช่วยฯ ผู้บริหาร เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ และอสม. อย่าสูญเสียกำลังใจว่าเราดูแลไม่ทั่วถึงอย่าหวั่นไหวกับสื่อโซเชียล ขอเป็นกำลังใจ ทราบว่าทุกท่านปฏิบัติงานกันอย่างเต็มที่เต็มกำลังความสามารถ เราทำงานไม่ใช่การสร้างภาพ เรื่องภัยพิบัติเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทุกปีเรามีแผนการทำงาน ให้ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน” นายอนุทินกล่าว
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งแม้ที่บ้านตนเองจะถูกน้ำท่วมก็ยังออกปฏิบัติงานให้การดูแลประชาชนเต็มที่ ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสำรวจความเสียหาย สถานบริการที่ได้รับผลกระทบ และบ้านเรือนของเจ้าหน้าที่ แจ้งมาที่ส่วนกลางเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซม ที่สำคัญขอให้ผู้บริหารดูแลเจ้าหน้าที่ที่ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งด้านสุขภาพร่างกายและด้านจิตใจ เนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้ค่อนข้างนาน เจ้าหน้าที่อาจมีภาวะเครียด .-สำนักข่าวไทย