ป.ป.ช. 16 ก.ย.-“เรืองไกร” ร้อง ป.ป.ช.สอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องวินิจฉัยเรื่องนายกฯ ถวายสัตย์ไม่ครบ อาจเป็นการเลือกปฏิบัติ-ใช้อำนาจช่วย “พล.อ.ประยุทธ์” พ้นการตรวจสอบหรือไม่ ความเห็นศาลไม่มีกฎหมายรองรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.30 น. วันนี้ (16 ก.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เข้ายื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าหรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องถูกตรวจสอบโดยสภาฯและองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวที่ไม่รับคำร้องของตน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าด้วยเรื่องการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 162 โดยให้เหตุผลว่าการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 161 และมาตรา 162 ยุติไปแล้วจึงไม่รับคำร้อง แต่หากไปเปรียบเทียบกับกรณีที่ใกล้เคียงกัน คือ กรณีนายณฐพร โตประยูร ร้องเรียนการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เช่นเดียวกัน ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ ดังนั้นการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องของตน แต่รับเรื่องการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานหรือไม่ และการที่ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวคำสั่งยกฟ้อง ซึ่งมีถ้อยคำว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ ทำให้มีนักการเมืองนำไปตีความว่าอาจจะไม่สามารถอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในเรื่องดังกล่าวได้ ทั้งที่คำสั่งดำกล่าวไม่ใช่ซึ่งไม่ใช่คำวินิจฉัย อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวยังไม่มีการเผยแพร่เป็นทางการแต่อย่างใด
“การที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ข่าวว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญนั้น ในทางกฎหมายแล้วต้องบอกว่าผมไม่เห็นพ้องด้วย เพราะไม่มีการอ้างอิงบทบัญญัติทางกฎหมาย หรือกฎหมายใด ๆ มารองรับ” นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่าการร้องให้ตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น สามารถทำได้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 208 (6) ที่ระบุว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 235 วรรคสาม คือ เมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา และในกรณีที่ศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีพฤติการณ์ หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 234 ที่อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. ดังนั้นตนจึงนำเรื่องดังกล่าวมาร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234(1) ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 28(1) ต่อไป
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ตนยังมาติดตามเรื่องที่ยื่นให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีการแถลงนโยบายรัฐบาลอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากคำการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ไม่ครบ และไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาดำเนินนโยบาย ที่เคยร้องไว้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทราบว่าขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่อง แต่กลับมีการนำข่าวศาลรัฐธรรมนูญเรื่องไม่รับคำร้องกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ไปรวมพิจารณาในสำนวนดังกล่าวด้วย จึงสงสัยว่าอาจจะมีการรับลูกกันเป็นทอด ๆ หรือไม่.-สำนักข่าวไทย