กรุงเทพฯ 14 ก.ย.-เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน จับตาประชุมเฟด กสิกรไทยคาดบาทไทยมีโอกาสแข็งค่าต่อ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (9-13 ก.ย.)เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีที่ 30.36 บาทต่อดอลาร์ฯ สอดคล้องกับเงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ท่ามกลางสัญญาณเชิงบวกของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หลังจากสหรัฐฯ เลื่อนเวลาการปรับขึ้นภาษีจากวงเงินสินค้านำเข้า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ออกไปเป็นวันที่ 15 ต.ค. จากกำหนดเดิมวันที่ 1 ต.ค.นี้ ขณะที่จีนก็ได้เปิดเผยรายการสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 1 ปีจนถึง 16 ก.ย. 2563
นอกจากนี้ ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม ยังมีแรงหนุนจากท่าทีผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ด้วยเช่นกัน โดย ECB ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินที่ฝากไว้กับ ECB ลงมาที่ -0.50% และประกาศโครงการซื้อสินทรัพย์รอบใหม่ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา
ในวันศุกร์ (13 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 30.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ก.ย.)
ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,661.96 จุด ลดลง 0.49% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 59,854.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.68% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 0.08% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 354.40 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวนตามปัจจัยต่างประเทศ แต่เผชิญแรงเทขายทำกำไรจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงระหว่างสัปดาห์ ก่อนการประชุมนโยบายการเงินของECB แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ลดช่วงติดลบบางส่วนได้ช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังเชิงบวกต่อประเด็นการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน หลังทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้น ประกอบกับผลการประชุมของ ECB ไม่ได้แตกต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้มากนัก
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (16-20 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.20-30.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,650 และ 1,640 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,675 และ 1,690 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของเฟด (17-18 ก.ย.) ความคืบหน้าการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน และสถานการณ์ BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. รวมถึงผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนก.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนส.ค. ของจีน —