กระบี่ 12 ก.ย.-พบซากเต่าทะเลขนาดใหญ่ ลอยมาติดชายหาดเกาะปะกะ จ.กระบี่ สภาพเน่าเปื่อย คาดตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 วัน เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งพิสูจน์หาสาเหตุการตาย
เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานหมู่เกาะห้อง เขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี เร่งนำซากเต่าทะเลขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 50 กก. ขึ้นฝั่งเพื่อฝังกลบ หลังชาวบ้านพบลอยกลางทะเล ก่อนจะถูกคลื่นซัดมาติดชายหาดเกาะปะกะ ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ ห่างจากทางทิศเหนือของเกาะห้อง เขตอุทบยานแห่งชาติธารโบกขรณี ประมาณ 2 กิโลเมตร เบื้องต้นไม่ทราบว่าเป็นเต่าชนิดใด เนื่องสภาพเน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็น หนังหัวหลุดออกเหลือแต่กะโหลก ผิวหนังเน่าเปื่อยหลุดไปบางส่วน คาดว่าตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 วัน เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อส่งไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันเพื่อพิสูจน์หาสาเหตุการตาย และนำซากไปฝังกลบบนเกาะห้อง
นายวีระศักดิ์ ศรีสัจจัง หน.อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี เปิดเผยว่า เมื่อช่วง 2-3 วัน ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวว่า พบซากเต่าลอยกลางทะเลใกล้เกาะห้อง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบแต่ไม่พบ จนกระทั่งวันนี้มาพบซากเต่าลอยได้มาติดชายหาด เกาะปะกะ คาดว่าเต่าตัวดังกล่าวตายมาจากที่อื่น ก่อนถูกคลื่นซัดลอยมาที่บริเวณดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าเป็นเต่าชนิดใด และตายด้วยสาเหตุอะไร ต้องรอผลการพิสูจน์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอีกครั้ง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 54 % โลมาและวาฬ 41% และพะยูน 5 % ตั้งแต่ปีพ.ศ.2546-2560 มีแนวโน้มการเกยตื้นเพิ่มขึ้น พบมากสุดในปี 2560จำนวน 566 ครั้ง รองลงมาในปี 2559 จำนวน 449 ครั้ง
สาเหตุเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนเกิดจากการติดเครื่องมือประมงเป็นอันดับหนึ่งถึง 74% และ 89% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มโลมาและวาฬป่วยตามธรรมชาติมากกว่า 60% ขณะที่ข้อมูลศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือพบว่าในช่วงระหว่าง พ.ค.– ก.ค. 2562 มีเต่าทะเลตายและเยตื้นยังมีชีวิตอยู่ระพหว่างการรักษารวม 10 ตัว.-สำนักข่าวไทย