กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – เกษตรฯ เดินหน้าโครงการโคเนื้อ-โคขุนล้านตัวส่งตลาดจีน คาดสร้างรายได้เกษตรกรกว่า 40,000 บาทต่อครัวเรือน ยันใช้ลูกโคในประเทศเป็นหลัก เตรียมเดินหน้ารุ่นแรกเดือนตุลาคมทันทีหลังน้ำลด
กลุ่มเกษตรกรกว่า 500 คน ประสบอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น สกลนคร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ-โคขุน ได้ยื่นหนังสือขอให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน และมีความประสงค์เข้าร่วมโครงการดังกล่าว
นายประพัฒน์ โพธสุธน และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มารับหนังสือและชี้แจงรายละเอียดโครงการนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลด พร้อมรับปากจะเดินหน้าแก้ปัญหาด่วนที่สุด
นายประพัฒน์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงเกษตรฯ วางแผนสร้างรายได้เกษตรกร โดยมีโครงการเร่งด่วน 4 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเขียวหลังน้ำลด โดยมีผู้แสดงความจำนงรับซื้อจากเกษตรกรกว่า 6 ตัน ซึ่งประกันราคารับซื้อกิโลกรัมละ 30 บาท โดยเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการ 50,000 ราย โครงการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมากกว่า 200,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีผู้ร่วมโครงการ 50,000 ราย โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพด 1 ไร่ โดยประกันราคากิโลกรัมละ 8 บาท เบื้องต้นมีเอกชนแสดงความจำนงรับซื้อข้าวโพดจำนวนดังกล่าวแล้ว ภาครัฐจะแจกเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยถั่วเขียว 5 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวโพด 3.5 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจะขอใช้งบประมาณจากรัฐบาลจัดซื้อเมล็ดพันธ์ข้าวโพดและเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวรวม 710 ล้านบาท
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีแนวคิดส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุน 1 ล้านตัว เพื่อส่งออกไปจีน เบื้องต้นประสานงานกับกลุ่มเอกชนที่เดินทางเข้าพบช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เอกชนจีนประสงค์จะขอซื้อโคเนื้อ และโคขุนจากประเทศไทยจำนวนมาก โดยต้องการโคเนื้อและโคขุนที่มีน้ำหนัก 420 กิโลกรัม วันละกว่า 2,500 ตัว จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ไปดูตลาดว่าสามารถส่งออกได้จริงหรือไม่ ซึ่งพบว่าเริ่มสร้างโรงเชือดที่เป็นมาตรฐานจากกลุ่มเอกชนจีนที่ประเทศลาวขณะนี้ใกล้เสร็จ จากนั้นสามารถส่งออกได้ทันที เริ่มดำเนินการตามโครงการจะเลี้ยงโคขุน-โคเนื้อที่เป็นลูกโคน้ำหนัก 250 กิโลกรัมให้ได้น้ำหนัก 450 กิโลกรัม ภายใน 120 วัน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 1 ราย สามารถเลี้ยงโคได้ 5 ตัว ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้หักค่าใช้จ่ายตัวละไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท โครงการนี้สามารถรองรับเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย ทั้งนี้ จะสนับสนุนแหล่งเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อซื้อลูกโคตัวละ 24,000 บาท น้ำหนักลูกโคต้องไม่ต่ำกว่า 250 กิโลกรัม เพื่อนำไปเลี้ยงให้ได้น้ำหนัก450 กิโลกรัม ก่อนขายให้โรงเชือดของจีนต่อไป โดยให้เกษตรกรเลือกลูกโคเองและใช้โคในประเทศเป็นหลัก ซึ่ง ธ.ก.ส.จะเป็นผู้จ่ายแทนเกษตรกรทั้งหมดโดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 4
นอกจากนี้ ยังมีการทำประกันการตายของลูกโคในโครงการทั้งหมดตัวละ 400 บาท หากตายระหว่างการเลี้ยง เกษตรกรไม่ต้องรับภาระหนี้สิน โดยจะของบประมาณจากรัฐบาลในการทำประกันโคในโครงการทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีการส่งเสริมการผลิตอาหารให้โคขุนในโครงการ ซึ่งเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีการรวมกลุ่มกัน ทางภาครัฐจะสนับสนุนในการจัดซื้อเครื่องผสมอาหารสัตว์ให้เป็นไปตามสูตรของกรมปศุสัตว์ โดยมีต้นทุนอาหารสัตว์กิโลกกรัมละ 4 บาท เครื่องผสมอาหารสัตว์เครื่องละ 500,000 บาท ซึ่งภาครัฐจะออกให้ร้อยละ 70 กลุ่มเกษตรกรออกอีกร้อยละ 30 เพื่อให้เกษตรกรรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของทำให้โคในโครงการโตเร็วให้เพิ่มขึ้นวันละกว่า 1.5 กิโลกรัม ภายใน 120 วัน จะสามารถส่งให้กับโรงเชือดได้ทันที โครงการทั้งหมดของการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ-โคขุน โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเสนอของบ กลางเพียง 3,720 ล้านบาท และกรมน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเจาะบ่อบาดาล เพื่อปลูกหญ้าเลี้ยงโคขุนในโครงการ โดยบาดาล 1 บ่อสามารถปลูกหญ้าได้กว่า 100 ไร่ คาดว่า อาหารจะเพียงพอต่อการเลี้ยงโคในโครงการทั้งหมด เกษตรกรที่่เข้าร่วมโครงการจะได้กำไรจากการเลี้ยงโคครั้งนี้ไม่ต่ำกว่าตัวละ 8,000 บาท
“โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุนครั้งนี้ขอใช้งบกลางน้อยมากได้สรุปรายละเอียดโครงการนำเสนอ รมว. เกษตรฯ แล้ว โดย รมว. เกษตรฯ ยินดีที่จะนำเสนอ ครม.พิจารณา เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร คาดว่าจะเริ่มเลี้ยงเดือนตุลาคมนี้แน่นอนทันทีหลังน้ำลด” นายประพัฒน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย