ทำเนียบฯ 6 ก.ย. – ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบแพคเกจ Thailand Plus ปลดล็อคการลงทุน 7ด้าน ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หนุนพัฒนาบุคคลากรหักลดหย่อนมากกว่า 2 เท่า เร่งพาณิชย์เดินเครื่องเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรป
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า นักลงทุนหลายประเทศ ทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังไทย แต่ยังไม่มั่นใจเรื่องแรงจูงใจการลงทุน หลายประเทศต้องเปลี่ยนไปย้ายไปลงทุนในประเทศคู่แข่งเวียดนาม โดยเมื่อรัฐบาลผลักดัน แพคเกจ Thailand Plus 7 ด้าน จะทำให้การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเร็วขึ้น ไทยจึงต้องใช้โอกาสนี้ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังไทย ซึ่งมาตรการดังกล่าวเตรียมนำเสนอที่ประชุม ครม.ในวันอังคารหน้า
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.ศรษฐกิจ) ได้เห็นชอบแพคเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิต จากผลกระทบของสงครามการค้าหรือ Thailand Plus Package 7 ด้าน ดังนี้ 1.การให้สิทธิประโยชน์เร่งรัดการลงทุน จากเดิมได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี เพิ่มใหม่เป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติม โดยกำหนดต้องเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000ล้านบาท ภายในปี 2564 ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563 2. เห็นชอบตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุนในลักษณะ One Stop Service โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อตัดสินใจ และอำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคแก่นักลงทุนรวมในจุดเดียว ไม่ต้องเดินทางไปหารือกับหลายหน่วยงานแล้วไม่ได้รับคำตอบชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่นเมื่อได้หารือกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตได้อย่างรวดเร็ว
3.ด้านพัฒนาบุคลากร กำหนดมาตรการด้านการคลัง เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน เมื่อผู้ประกอบการนำเงินลงทุน หรือมีค่าใช้จ่ายอบรมแรงงานด้าน Advance Technology สามารถไปหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง ระหว่างปี 2562-2563 รวมทั้ง การออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาวิทยาศาตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง
นอกจากนี้ บีโอไอยังร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เสนอแนวทาง การนำเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาใช้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษาศักยภาพสูง เพื่อให้สถาบันการศึกษา บริษัทต่างชาติหรือเอกชนจัดคอร์สการอบรมระยะสั้น เช่น Google หัวเหว่ย พร้อมเข้ามาตั้ง Academy เพื่ออบรมแรงงานทักษะสูง
4. ด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) มอบหมายให้กระทรวง พาณิชย์เร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้บีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงข้อมูล อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมโรงานอุตสาหกรรมและกรมที่ดิน การปรับปรุงกฏระเบียบเรื่องวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยควมสะดวกแก่นักลงทุน และผู้มีความเซี่ยวชาญสูง เพื่อให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น
5.มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพราะแต่ละประเทศต้องการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น 6. ครม. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ สรุปผลการศึกษา และฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู และการเข้าร่วมความตกลหุ้น ทางเศรษฐกิจเอเซียแปซิฟิก (CPTPP) ภายในปี 2562 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติว่าไทยประสงค์เจรจาทั้งสองเวทีอย่างแน่นอน และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณดูผลเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ผ่านกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าด้วย 7. ให้กระทรวงการคลัง กำหนดมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้นักลงทุนนำค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.5 เท่า ระหว่างปี 2562-2563 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ด้วยระบบอัตโนมัติ
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มาตรการชักจูงการลงทุนของบีโอไอ ได้เตรียมร่วมกับหลายหน่วยงาน เดินทางออกไปโรดโชว์กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อตลาดเชิงรุก เน้นกลุ่มในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เป็นต้น เพราะไทยมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบาย New Southern Policy ของเกาหลีใต้ และนโยบาย Belt and Road Initiative Thailand (BRI) ของจีน ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East policy) ของอินเดีย เนื่องจากไทยมีจุดเด่น เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยังกลุ่ม ACMECS หรือ CMVT การออกมาตรการ Thailand Plus ครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการดึงการลงทุนในช่วงที่นักลงทุนต้องการย้ายฐานการผลิต การลงทุนจากต่างประเทศ ขณะนี้ไทยจัดเป็นอันดับ 4 รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยไทยมีเงินลงทุนโดยตรง (FDI) 10,493 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบริหารงานเศรษฐกิจ โดยมีนายกอบศักดิ์ เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจาก คลัง ธปท. สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และรายงานภาพรวมทางเศรษฐกิจให้ ครม.เศรษฐกิจรับทราบทุกสัปดาห์ .-สำนักข่าวไทย