กรุงเทพฯ 6 ก.ย. – “ธรรมนัส” ลงพื้นที่ภาคอีสานตรวจน้ำท่วม-ให้กำลังเกษตรกร รับปากหาแนวทางเพิ่มค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลัง
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและให้กำลังใจเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยได้รับฟังข้อเรียกร้องของเกษตรกรเกี่ยวกับค่าชดเชยกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ด้านพืชจะจ่ายเงินช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ทั้งนี้ กำหนดให้นาข้าวได้รับอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้รับอัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่น ๆ ได้รับอัตราไร่ละ 1,690 บาท
ส่วนการช่วยเหลือด้านปศุสัตว์กรณีเป็นเงินหรือปัจจัยการผลิตสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ให้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม หรือท่อนพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กิโลกรัม ไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือจ่ายเป็นค่าพันธุ์พืชอาหารสัตว์ครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน สำหรับการช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย จะชดเชยตามเสียหายจริง ซึ่งกำหนดอัตราส่วนตามอายุสัตว์ โดยอัตราสูงสุดสำหรับโคอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 20,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว กระบืออายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 22,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว สุกรอายุมากกว่า 30 วันขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 3,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ตัว ไก่ไข่อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 80 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว ไก่เนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว เป็ดไข่และเป็ดเนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว
สำหรับด้านประมงแบ่งเป็นปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน 16,577 ไร่ ๆ ละ 4,225 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล 1,065 ไร่ ๆ ละ 10,920 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังหรือบ่อซีเมนต์ 1,413 ไร่ ตารางเมตรละ 315 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตรนั้น เกษตรกรระบุว่าน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่จ่ายไป รวมถึงการจะนำมาลงทุนรอบใหม่ก็ไม่เพียงพอ
ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาปรับแก้ระเบียบให้เกษตรกรได้รับค่าชดเชยสูงขึ้น แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของการออกกฎหมาย นอกจากนี้ ยังจะให้ดำเนินโครงการประกันภัยผลผลิต ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เคยทำมาแล้ว โดยรัฐสนับสนุนเบี้ยประกันเป็นเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก ทำให้เกษตรกรได้รับค่าชดเชยทั้งจากภาครัฐและได้รับสินไหมทดแทนจากบริษัทในสังกัดสมาคมประกันวินาศภัยเป็นทุนสำหรับการผลิตรอบใหม่ นอกจากนี้ ยังได้รับข้อเสนอของเกษตรกรที่ทำการเกษตรในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น ที่ดินที่มีเพียงเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท. 5) เมื่อเกิดภัยพิบัติจะไม่ได้รับค่าชดเชย ซึ่งจำเป็นต้องไปพิจารณาว่าจะแก้ไขกฎหมายให้ได้รับค่าชดเชยเช่นเดียวกับเกษตรกรที่ทำกินในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ได้หรือไม่
ส่วนมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรฯ นั้น จะพิจารณาสนับสนุนพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์ ปัจจัยการผลิต การฟื้นฟูอาชีพ รวมถึงการอบรมอาชีพเสริม เพื่อให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัวและประกอบอาชีพเกษตรต่อไป.-สำนักข่าวไทย