รร.เซนทรา ศูนย์ราชการ 6 ก.ย.-ผลสำรวจพบสาธารณชนเชื่อมั่นความเชี่ยวชาญของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คาดหลังปิดสำนวนคดี ‘บิลลี่’ ยกระดับดีเอสไอ แต่ต้องระวังการเมืองแทรกแซงคดีฉุดศรัทธาตกต่ำ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ประจำปีงบ ประมาณ2562 ซึ่งได้จากการจัดเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 5-16 สิงหาคม 2562 พบว่า ผลการสำรวจเชิงปริมาณจากกลุ่มตัวอย่างประขาชนทั่วไป ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้เสียของดีเอสไอ กว่า2,500 กลุ่มตัวอย่าง พบว่า ในส่วนของระดับความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อดีเอสไอ กลุ่มผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง มีระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 78.90 ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไป มีระดับความเชื่อมั่นร้อยละ64.90
ประเด็นที่กลุ่มตัวอย่างให้ความเชื่อมั่นมากที่สุด คือ ความเชี่ยวชาญของบุคลากร รองลงมาคือ ความโปร่งใส และความเท่าเทียม ตามลำดับ
ขณะที่ผลสำรวจการรับรู้ รับทราบ บทบาทหน้าที่ของดีเอสไอกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ93 ระบุว่าพอรู้จัก มีเพียงร้อยละ 6.8 ที่รู้จักเป็นอย่างดี โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 81 ทราบว่า เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่บทบาทหน้าที่ในด้านอื่นมีการรับรู้ค่อนข้างต่ำ
สำหรับการติดตามข้อมูลข่าวสารและผลงานของดีเอสไอ พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ98 ติดตามผ่านสื่อโทรทัศน์ รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก และหนังสือพิมพ์ตามลำดับ
ส่วนผลการสำรวจเชิงคุณภาพ จากผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้รับบริการ ผู้ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ หน่วยงานร่วมปฎิบัติ จำนวน 20 หน่วยตัวอย่าง ผลสำรวจความเชื่อมั่นที่มีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่า โครงสร้างการทำงานดี มีการทำงานแบบถ่วงดุล มีช่องทางการให้บริการและอำนวยความยุติธรรมที่ค่อนข้างเปิดกว้าง มีศักยภาพในการดำเนินคดีอาชญากรรมที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากมีอำนาจตามกฎหมายมากกว่าหน่วยงานยุติธรรมอื่นๆในการดำเนินคดีพิเศษ และมีบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่และคลี่คลายคดีระดับประเทศซึ่งเป็นความหวังให้ประชาชนได้
ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่ทำให้ระดับความเชื่อมั่นลดลงจนถึงระดับไม่เชื่อมั่น สำคัญสุดคือเป็นหน่วยงานที่ยังถูกแทรกแซงทางการเมือง ซึ่ง การดำเนินคดียังไม่มีความเป็นอิสระ การรับส่งต่อคดียังคลุมเครือในการแบ่งแยกคดีพิเศษ การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการทำงานตามฝ่ายการเมือง ขาดการชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนในการดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องในกับคดีได้รับทราบ ภาพลักษณ์ในการทำหน้าที่ทับซ้อนกับตำรวจ และมีความเคลือบแคลงในมาตรฐานการคัดเลือกบุคลากรมาทำหน้าที่
จากผลการสำรวจครั้งนี้ สรุปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ผู้รับ บริการผู้บริหารที่รู้จักดีเอสไอจะมีระดับความเชื่อมั่นในระดับสูง ในขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไปหรือคนที่ไม่รู้จักดีเอสไอจะมีระดับความเชื่อมั่นต่ำ ดังนั้น จึงเสนอแนะให้ดีเอสไอ ต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้รู้จักบทบาทหน้าที่ของกรมให้มากขึ้น เชื่อว่าหากมีการสำรวจในช่วงทีดีเอสไอแถลงข่าวพบกระดูกของบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ เชื่อว่าผลการสำรวจประชาชนจะรู้จักกรมสอบสวนคดีพิเศษเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ90แน่นอน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สังคมกังวลคือปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองหรือคดีด้านการเมืองที่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริง เพราะอาจมีความกังวลการเมืองเข้ามาจะมีผลต่อความเป็นกลางในการทำคดีและส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร โดยเฉพาะคดีพิเศษที่มีความสำคัญ ซึ่งประชาชนมีความคาดหวังสูงว่าดีเอสไอจะไม่ถูกแทรกแซง จึงอยากให้มีการสรรหาบุคคลากรเข้ามาทำงาน ที่ต่างจากตำรวจ และมีระบบการคัดคนที่ต่างจากหน่วยงานอื่น โดยใช้สหวิชาชีพเข้ามาร่วม
ด้านพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า จากผลการสำรวจทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รู้ทิศทางและนำมาทบทวนการทำงานในการดำเนินคดีสำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและประชาชนได้รู้ว่าในแต่ละปีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้งบประมาณกว่า 1พันล้านบาทไปใช้ทำอะไรบ้างและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างไร ซึ่งมั่นใจว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถเรียกคืนผลประโยชน์ให้รัฐได้มากกว่า 5 แสนล้านบาทซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
อย่างไรก็ตามกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะยังคงทำงานแบบูรรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ในการทำคดีสำคัญๆ รวมถึงการคลี่คลายคดีการหายตัวไปของบิลลี่ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน ในการลงพื้นที่สืบสวนเก็บข้อมูล หาหลักฐาน รวมทั้งดูสภาพภูมิประเทศทั้งในหน้าแล้งหน้าฝน ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะพบหลักฐานสำคัญ ซึ่งเป็นงานยาก .-สำนักข่าวไทย