กรุงเทพฯ 10 ส.ค. – นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลการรับส่งเสริมการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2559 ว่า การดำเนินงานของกระทรวงเป็นไปตามเป้าหมายน่าพอใจ โดยเฉพาะผลการชักจูงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวม 280 โครงการ มูลค่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้น 91,875 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าการของรับส่งเสริมการลงทุนในภาพรวมที่ยื่นขอเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิตอล แต่หากพิจารณามูลค่าเงินลงทุนพบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีเงินลงทุนสูงสุด โดยมีวงเงินสูงถึง 29,249 ล้านบาท รองลงมา คือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม วงเงินลงทุน 12,563 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ วงเงินลงทุน 12,166 ล้านบาท
สำหรับสถิติการประกอบและขยายกิจการโรงงาน (รง.4) ของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ยื่นแจ้งประกอบการสูงสุดเรียงตามลำดับ อันดับ 1 อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 485 โครงการ รองลงมา คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 55 โรง อุตสาหกรรมเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ 72 โรง อุตสาหกรรมยานยนต์ 38 โรง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล 27 โรง อุตสาหกรรมดิจิตอล 23 โรง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสุขภาพ 22 โรง อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 11 โรง อุตสาหกรรมการแพทย์ 8 โรง และอุตสาหกรรมอากาศและการบิน 1 โรง
ด้านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น มีความคืบหน้าน่าพอใจ โดยโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วมีความคืบหน้ามากที่สุดและมีการติดต่อเข้ามายังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว ซึ่งทาง กนอ.คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างนิคมประมาณปลายปี 2559 และเปิดดำเนินการปี 2561 ขณะที่โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสงขลาที่สะเดากำลังรอการส่งมอบพื้นที่จากกรมธนารักษ์ คาดว่าจะเริ่มโครงการปีงบ 2561 หรือปลายปี 2560 โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือน และเปิดดำเนินการปี 2562 ส่วนโครงการตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติที่อำเภอสนาชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 1,235 ไร่ คาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาภายในเดือนสิงหาคมนี้
นางอรรชกา ยังคาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI จะขยายตัวร้อยละ 1-2 ขณะที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 จากปี 2558 ที่ MPI ขยายตัวร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ ปัจจัยสนับสนุน คือ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร ขณะที่ภาคการลงทุนเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ เนื่องจากการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงโครงการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัว.-สำนักข่าวไทย