กรุงเทพฯ 3 ก.ย. – ชาวสวนยางพอใจโครงการประกันรายได้ ครอบคลุมทั้งเจ้าของสวนและคนกรีด ได้รับทั้งบัตรสีเขียวและสีชมพู
นายสุนทร รักษ์รง นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ โดยระบุว่า โครงการประกันรายได้กำลังจะเป็นจริง ผู้ที่เข้าโครงการจะมีทั้งเกษตรกรที่ถือบัตรสีเขียว คือ ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์และบัตรสีชมพู คือ ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ขณะที่คนกรีดยางได้ส่วนแบ่งเงินค่าชดเชยด้วย นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการควบคู่เพื่อผลักดันราคายางให้สูงขึ้น จึงขอขอบคุณนายนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกนโยบายที่กินได้
ด้านนายทวีศิลป์ ประทีป อดีตเลขานุการภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ (คยป.) กล่าวว่า ได้ร่วมกับพี่น้องเกษตรกรจังหวัดชายแดนใต้บางส่วนจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ในนาม “เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดชายแดนใต้” (คย.จชต.) ขอเชิญชวนผู้ที่มีประสงค์ร่วมเป็นสมาชิกเพื่อขับเคลื่อนให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยาง อีกทั้งระบุว่า ข้อสรุปโครงการประกันรายได้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป็นผลสำเร็จร่วมกันของชาวสวนยางทั่วประเทศ
สำหรับแกนนำเกษตรกรภาคตะวันออกอย่างนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ รักษาการนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) กล่าวว่า ได้ออกแถลงการณ์ให้ชาวสวนยางยุติการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อกระทรวงเกษตรฯ แล้ว เนื่องจากนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการณ์ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ชี้แจงชัดเจนว่าผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ทุกคนมีสิทธิ์ได้เงินชดเชยเท่าเทียมกัน คือ เกษตรกรชาวสวนยางที่ถือบัตรสีชมพู ซึ่งจ่ายค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (CESS) เข้าโครงการได้ด้วย จึงจะหยุดการเคลื่อนไหว โดยให้โอกาส รมว. เกษตรฯ เดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อไป
นายสุนันท์ พรหมนวลสกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ได้ชี้แจงแกนนำชาวสวนยางพาราทุกกลุ่มให้ทราบว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้ครอบคลุมเกษตรกรทุกกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. รวมทั้งคนกรีดยางก็ได้ส่วนแบ่งจากเงินค่าชดเชยส่วนต่างจากการขายยางพาราตามราคาที่กำหนดไว้ในโครงการด้วย คือ ราคายางที่ประกันรายได้กำหนดให้สำหรับยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 100%) 25.00 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดยางพาราล่าสุดพบว่าผู้ประกอบการส่งออกยางรายใหญ่ 5 ราย เริ่มกลับเข้ามาช้อนซื้อยางพาราแล้ว โดยบริษัทที่หยุดรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรไป 3 บริษัทได้ซื้อเหมือนเดิมเช่นกันเนื่องจากเห็นว่าการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐจะดูดซับยางพาราออกไปจากตลาด ซึ่งทางผู้ประกอบการมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาและต้องส่งยางพาราตามเวลา อีกทั้งเห็นว่าแนวทางสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นสินค้าจากยางพารา ทำให้ความต้องการยางเพิ่มขึ้น จึงหวังทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายที่จะทำให้ไทยเป็นตลาดกลางยางพาราของโลก โดยให้สามารถกำหนดราคาซื้อขายได้เอง ไม่ต้องกังวลจะได้รับผลกระทบจากการบิดเบือนกลไกลตลาดของตลาดซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศเช่น การเก็งกำไร การกดราคาขาย ทำให้ราคาซื้อขายยางพาราในประเทศมีเสถียรภาพ ผู้ประกอบการจึงมีความมั่นใจ รวมทั้งหากตลาดกลางในประเทศจัดตั้งขึ้น จะได้เก็บสตอกยางพาราทั้งหมดภายในประเทศ ไม่ต้องนำยางพาราบางส่วนที่จะขายไปเก็บสต็อกในต่างประเทศอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคายางพารา ทำให้เกษตรกรขายยางได้ราคาสูงขึ้นตามลำดับ.-สำนักข่าวไทย