วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร 24 ส.ค.-หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พะยูนมาเรียม-ยามีล-โฮป วาฬหัวทุยแคระ วอนสังคมอย่ามองแค่กระแสมาเรียม แต่ต้องลด ละ เลิกใช้พลาสติก “สัตวแพทย์หญิงนันทริกา” ชี้สาเหตุหลักสัตว์ทะเลเกยตื้น เกิดจากพลาสติกชิ้นเดียวฆ่าชีวิตได้
น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พร้อมด้วย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมสัตวแพทย์ที่ดูแลรักษาปฐมพยาบาลพะยูน มาเรียม รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับมาเรียม พะยูนน้อยเกาะลิบง พะยูนยามีล และ โฮป ลูกวาฬหัวทุยแคระ บริเวณศาลาพระยานิกรบดินทร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร โดยได้นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ ก่อนที่จะร่วมกันถวายผ้าบังสุกุล จตุปัจจัยไทยธรรมให้พระสงฆ์สวดบังสกุล
ภายในงานได้นำรูปมาเรียม พะยูนที่เสียชีวิต มาวางไว้ พร้อมด้วยตุ๊กตารูปพะยูน ที่เขียนชื่อ มาเรียม นอกจากนี้ ยังมีรูปยามีล พะยูนที่เสียชีวิต และโฮป วาฬหัวทุยแคระที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้
น.ส.กัญจนา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการมาทำบุญในวันนี้ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพะยูนและสัตว์ทะลอื่นที่เสียชีวิตแล้วรวม 17 ตัว ซึ่งมาเรียมและยามีล เป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ทะเล และเป็นเหมือนลูกหลานที่ต้องตายเพราะการกระทำของมนุษย์ ซึ่งจากการผ่าชันสูตรพบถุงพลาสติกอยู่ในท้องจำนวนมาก จึงต้องตระหนักว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก
“ยอมรับว่าการลดละเลิกใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องยาก อย่างพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เพราะยังจำเป็นต้องใช้อยู่ เนื่องจากวัสดุธรรมชาติมีต้นทุนที่สูงกว่า ดังนั้นจึงต้องกระตุ้นเตือนพฤติกรรมของตัวเองและครอบครัว รวมถึงจะเสนอให้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องต้นทุน ด้วยการหานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มาทดแทน และในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาจะเริ่มที่ ส.ส. สมาชิกพรรคทุกคน ให้ร่วมรณรงค์ลด ละเลิกการใช้พลาสติก รวมถึงพฤติกรรมการจัดการขยะ การจากไปของมาเรียมจะไม่สูญเปล่า และพยายามที่จะลดการใช้ถุงพลาสติก” น.ส.กัญจนา กล่าว
ด้าน รศ.สพ.ญ.นันทริกา กล่าวถึงแผนการยื้อชีวิตสัตว์ทะเลที่มาเกยตื้น ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีของมาเรียมและยามีล จะต้องนำมาถอดบทเรียนว่าอะไรที่เหมาะสมแล้ว และอะไรที่จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยแพทย์ที่ดูแลในด้านนี้ 27 คนจะมีการหารือกับอธิบดีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อจัดทำคู่มือการทำงาน เมื่อเกิดเหตุสัตว์ทะเลเกยตื้น ให้เร็วที่สุด
“แผนงานเบื้องต้น คิดว่าจะต้องจัดทำเป็นสถานีย่อยรักษาสัตว์ทะเลเกยตื้นใกล้ชาดฝั่ง โดยจะทำบ่อบริบาลให้มีความเป็นธรรมชาติที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจปล่อยลงสู่ทะเล เพราะการเคลื่อนย้ายบ่อย จะทำให้สัตว์ทะเลเกิดความเครียด” รศ.สพ.ญ.นันทริกา กล่าว
รศ.สพ.ญ.นันทริกา กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องงบประมาณ ถือเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าพะยูนหรือสัตว์ทะเลจะมาเกยตื้นใน 1 ปีกี่ตัว แต่ก็ยังดีที่มีกองทุนช่วยชีวิตสัตว์น้ำที่เคยเปิดรับบริจาคเป็นเวลา 2 วัน มีจำนวนเงินประมาณ 1.7 ล้านบาท ที่สามารถใช้จ่ายได้ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ก็เข้ามาช่วยเหลือ ส่วนในอนาคตคงต้องหารือกันว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
“ยอมรับว่าสัตว์ที่มาเกยตื้น จะมีอัตราการรอดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และการรักษาจะต้องดูจากอาการจริงและโรคที่แทรกซ้อนด้วย ส่วนสาเหตุสำคัญก็เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น แม้จะเป็น ขยะเพียงชิ้นเดียว แต่ก็เป็นชิ้นเดียวที่ฆ่าชีวิต” รศ.สพ.ญ.นันทริกา กล่าว.-สำนักข่าวไทย