รัฐสภา 11 ส.ค.-ที่ประชุมสนช.พิจารณากระบวนการถอดถอนประชา ประสพดี กรรมการ ป.ป.ช. ย้ำแทรกแซงการทำงานขององค์การตลาด เหตุสั่งชะลอการประชุมกรรมการช่วยคดีทุจริต ทั้งที่ยังไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล ขณะที่นายประชา ยืนยัน สั่งชะลอการประชุมเพื่อรอมอบนโยบายเท่านั้น ไม่เคยรู้จักผอ.องค์การตลาด
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช. วันนี้(11 ส.ค.) พิจารณากระบวนการถอดถอนนายประชา ประสพดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีก้าวก่ายและแทรกแซงการทำงานของบอร์ดองค์การตลาด(อต.) เพื่อช่วยเหลือคดีทุจริตแก่นายธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้อำนวยการ อต. โดย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ สมาชิก สนช. เป็นตัวแทนกรรมาธิการซักถาม ได้ซักถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ถึงเหตุผลของการมีมติว่านายประชาแทรกแซงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการอต.
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ชี้แจงว่า การที่นายประชาโทรศัพท์ไปหารองประธานกรรมการอต.เพื่อสั่งชะลอการประชุมคณะกรรมการ อต.ที่กำลังจะพิจารณาเรื่องการทุจริตของนายธีธัช คณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่า แม้นายประชาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีแล้วในขณะนั้น แต่ได้โทรไปสั่งการก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้ดูแลองค์การตลาด อีกทั้งอำนาจในการเรียกและชะลอการประชุมเป็นของคณะกรรมการ อต.ไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรี ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่าการกระทำของนายประชาผิดฐานใช้ตำแหน่งไปแทรกแซงการทำหน้าที่ประจำของคณะกรรมการอต.
พล.ร.ท.สนธยา น้อยฉายา สมาชิก สนช.เป็นตัวแทนกรรมาธิการซักถามฝั่งนายประชาเรื่องกระบวนการตรวจสอบนายธีธัช และการดำเนินการของคณะกรรมการอต.ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร ซึ่งนายประชาตอบว่า ขณะที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบนายธีธัช ตนยังไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามขั้นตอนของ อต. ดังนั้นความบกพร่องหรือไม่บกพร่องอย่างไรนั้น ไม่สามารถยืนยันได้ ซึ่งการสอบสวนทางวินัย เมื่อสอบไประยะหนึ่งได้ยุติลง เพราะองค์การตลาดเลิกจ้างนายธีธัช จึงถือว่านายธีธัชไม่ได้เป็นพนักงานขององค์กรตลาดอีกต่อไป และการสอบสวนเป็นเรื่องของ อต.
นายประชา กล่าวว่า เคยให้การไว้ในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช.ว่า ไม่เคยรู้จักกับนายธีธัช ไม่รู้จักกับคณะกรรมการ อต. และไม่เคยมีข้อขัดแย้งกัน อีกทั้งไม่ทราบว่าคณะกรรมการ อต.จะประชุมเวลาใด แต่อยากให้การดำเนินการของคณะกรรมการองค์การตลาดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอให้ชะลอการประชุมเพื่อรอรับมอบนโยบายเพื่อให้ทำงานสอดคล้องกับนโยบาย
“ผมไม่ได้สั่งห้ามประชุมเพื่อพิจารณาปลดนายธีธัช อย่างไรก็ตาม ตั้งสังเกตว่า ลักษณะการประชุมในวันดังกล่าวเป็นการประชุมที่รีบร้อน และผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ มีมติเลิกจ้างนายธีธัชด้วยเสียงเพียง 8 เสียง และการเลิกจ้างก็ไม่ขอความเห็นจากผมในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้วย” นายประชา กล่าว.-สำนักข่าวไทย