รัฐสภา 21 ส.ค.-“สมพงษ์” ยังเชื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ย้ายหนุนรัฐบาล ไม่ต้องตั้งกฎห้าม ส.ส.ต้อนรับนายกฯ ลงพื้นที่ แต่ต้องปรามเรื่องคำพูด
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงบทบาทหน้าที่หลังจากเข้าร่วมในพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ว่า เมื่อวานนี้ (20 ส.ค.) ได้หารือร่วมกับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน และย้ำกับทุกคนว่าฝ่ายค้านไม่ได้หมายถึงแค่พรรคเพื่อไทย แต่หมายถึงทุกพรรคที่ร่วมกันเป็นฝ่ายค้าน ต้องทำงานร่วมกัน โดยหลังจากนี้จะมีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม หลังจากที่มีการแต่งตั้งในเบื้องต้นแล้ว 4 ตำแหน่ง คือ ที่ปรึกษา , เลขานุการ , ผู้ช่วยเลขานุการ และโฆษกประจำตัวผู้นำฝ่ายค้าน
ส่วนความคืบหน้าหลังจากยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเป็นการทั่วไปรัฐบาลกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ นายสมพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอกระบวนการของสภา ส่วนผู้ที่ถูกยื่นญัตติ ต้องเดินทางมาสภาหรือไม่ เป็นหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องดำเนินการ ดังนั้นเราคงไปก้าวก่ายอะไรไม่ได้ ส่วนการยื่นญัตติขอศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทุกพรรคกำลังดำเนินการ เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคที่จะกำหนดแนวทางว่าจะยื่นขอแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ไขรายมาตรา
ส่วนกระแสข่าว ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วนอาจย้ายไปสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล นายสมพงษ์ กล่าวว่า ได้ยินข่าวมาเหมือนกัน แต่ส่วนตัวไม่เชื่อ เพราะการที่เราอยู่รวมกันเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีความเข้าอกเข้าใจกัน และเราก็รู้ว่าการย้ายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ผลเสียก็อยู่ที่การย้ายของตัวเอง และไม่มีอะไรดีขึ้น รัฐมนตรีก็แต่งตั้งแล้ว ใครจะไปเป็นอะไรได้อีก
“การหารือร่วมกับพรรคฝ่ายค้านเมื่อวานนี้ (20 ส.ค.) ได้ย้ำว่าขอให้ทุกพรรคกำชับ ส.ส.ของตัวเอง ได้โปรดเถอะว่าหลายสิ่งกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ตั้งแต่การอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 รวมถึงการเฝ้าดูการทำงานของรัฐบาล หากเป็นเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา อาจจะต้องคิดหนทางในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไป” นายสมพงษ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย นำโดย นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ไปต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดสุรินทร์ นายสมพงษ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร นิด ๆหน่อย ๆ ก็ทำได้
“เพราะในข้อเท็จจริงไม่ได้หมายความว่าเขาจะไปซูฮก หรือนายกรัฐมนตรีจะชวนเขาไปอยู่ด้วย แต่เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้กรุณาพวกเขา พวกเขาก็ต้องยอมหน่อย ยกตัวอย่างว่า ของบประมาณเขาไป 500 บาท แต่เขาให้มา 1,500 บาท ก็ต้องไปต้อนรับ ส่วนการใช้คำพูด คงเป็นเรื่องที่ต้องปรามกัน ไม่ให้เกินขอบเขต ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดไป คงไม่ได้มีอะไร คงเป็นลักษณะคำกลอนมันพาไปเท่านั้น และเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะลงต้อนรับใครอย่างไร เราคงไปบอกเขาให้ซ้าย หรือขวาคงไม่ได้ เพราะทุกคนเป็นผู้มีความรู้ เขาพูดกับคนกี่ร้อยกี่พันคนกว่าจะได้เป็นผู้แทนราษฎร คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่ต้องมีการพูดคุยกันหลังจากนี้” นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า คงไม่ตั้งกฎเกณฑ์ห้าม ส.ส.ฝ่ายค้านไปต้อนรับนายกรัฐมนตรี เพราะไม่เห็นมีปัญหาอะไร เราเป็นผู้แทนราษฏรอยู่ในพื้นที่ อย่างน้อยเราสังเกตเห็นได้ว่า นี่คือสิ่งที่ 5 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้น ขณะนี้เรามี ส.ส.เป็นตัวแทนพูดถึงปัญหาทุกวัน เช่น เราพูดกันวันนี้ พรุ่งนี้ก็ลงพื้นที่กันแล้ว สิ่งเหล่านี้คือความสวยงามที่เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย