กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – กรมฝนหลวงฯ ร่วมกับเหล่าทัพ ระดมอากาศยาน 29 ลำ ปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งพรุ่งนี้ นายกฯ อนุมัติงบกลาง 30 ล้านบาท
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.) เครื่องบินจากกองทัพอากาศ (ทอ.) 5 ลำ และกองทัพบ (ทบ.) 1 ลำ จะขึ้นปฏิบัติร่วมกับกรมฝนหลวงฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติงบกลาง 30 ล้านบาทมาให้บูรณาการทำงานดังกล่าว จากเดิมมีอากาศยาน 23 ลำ โดยเป็นของกรมฝนหลวงฯ 21 ลำ และทอ. 2 ลำ เมื่อ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานกับเหล่าทัพต่าง ๆ ได้เพิ่มมารวมเป็น 29 ลำ พร้อมกันนี้เหล่าทัพได้ส่งกำลังพลจำนวนมากมาช่วยบดและลำเลียงสารฝนหลวง ซึ่งจะไปประจำการในหน่วยปฏิบัติการต่าง ๆ โดยกำลังพลชุดแรกที่มาเสริมจะปฏิบัติถึงสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระยะเวลาสิ้นสุดของงบกลาง
“ร.อ.ธรรมนัส สั่งการให้พิจารณาส่งอากาศยานเสริมเข้ามาไประดมช่วยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเร่งด่วน จึงจัดเครื่องบินของ ทอ. 4 ลำ ไปปฏิบัติการที่หน่วยฝนหลวงนครราชสีมา และอีก 1ลำปฏิบัติการที่หน่วยฝนหลวงเชียงใหม่ สำหรับเครื่อง ทบ.ปฏิบัติการที่หน่วยฝนหลวงจลพบุรี ขณะนี้ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางต้องเร่งเติมน้ำเขื่อน และช่วยพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค” นายสุรสีห์ กล่าว
นายสุรสีห์ กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า ปัญหาภัยแล้งบางพื้นที่คลี่คลายลงบ้างแล้ว เนื่องจากมีฝนตกจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และการปฏิบัติการฝนหลวง แต่ยังคงเป็นห่วงเขื่อนที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยเกือบ 200 แห่ง เป็นเขื่อนใหญ่ 19 แห่ง และเขื่อนขนาดกลาง 170 แห่ง โดยหน่วยฝนหลวง 11หน่วยทั่วประเทศพร้อมปฏิบัติการตลอด ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยจะช่วงชิงสภาพอากาศทำฝนเติมน้ำเขื่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเหลือเวลาไม่นาน เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ จึงจำเป็นต้องเร่งเติมน้ำเขื่อน เพื่อให้พอใช้ถึงฤดูแล้ง
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงล่าสุด หน่วยจังหวัดพิษณุโลกรายงานว่าปฏิบัติการทำให้มีฝนตกเล็กน้อย ช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยแล้งในจังหวัดกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ หน่วยจังหวัดตากขึ้นทำฝนเติมน้ำเขื่อนภูมิพล ทำให้มีฝนตกเล็กน้อย ส่วนหน่วยจังหวัดลพบุรี สามารถขึ้นปฏิบัติการช่วงชิงสภาพอากาศได้เป็นผลสำเร็จมีฝนตกเฉลี่ย 5-22 มิลลิเมตรเป็นบริเวณกว้าง จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ถึง กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ สามารถเติมน้ำสู่เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนทับเสลา เขื่อนห้วยใหญ่ และบึงบอระเพ็ด หน่วยจังหวัดกาญจนบุรีสามารถเติมน้ำเขื่อนกระเสียว เขื่อนห้วยท่าเดื่อ ช่วยพื้นที่เกษตรในจังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท หน่วยฝนหลวงจังหวัดขอนแก่นขึ้นปฏิบัติการช่วยพื้นที่เกษตรบริเวณจังหวัดชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เติมน้ำเขื่อนลำปาว หน่วยจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นบินปฏิบัติการช่วยพื้นที่เกษตร ในอำเภอวารินชำราบ สำโรง มีฝนตก และหน่วยจังหวัดสุรินทร์-บุรีรัมย์เร่งช่วยเติมน้ำสุ่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงที่ขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปาให้กับตัวเมืองและโรงพยาบาลสุรินทร์ หน่วยฝนหลวงจังหวัดสระแก้วทำฝนตกลงสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพิ่มน้ำลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยโสมง และภาคใต้ ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราชและป่าพรุบางนกออก อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลาที่ยังมีไฟไหม้ใต้ดิน สามารถเพิ่มความชุ่มชื้นและบรรเทาฝุ่นละออง PM 2.5 ลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของเจ้าหน้าดับไฟป่าและประชาชนโดยรอบ
นอกจากนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้เร่งปฏิบัติการช่วยพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศภัยแล้งเพิ่ม 10 จังหวัด 38 อำเภอ 270 ตำบล 2,353 หมู่บ้าน ซึ่งศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้ติดตามสภาพฝนสะสมพบว่าภาคกลางเริ่มมีความชื้นในดินมากขึ้น ประกอบกับแผนที่ปริมาณฝนตกของกรมฝนหลวงเป็นฝนสะสม 1 สัปดาห์ พื้นที่มีความชื้นในดินมากขึ้นตอนกลางของประเทศได้ฝนมากพอสมควร การทำฝนหลวงประสบความสำเร็จ.-สำนักข่าวไทย