กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – การท่าเรือฯ ลงนามท่าเรืออินเดีย หวังลดต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างไทยและกลุ่มประเทศ BIMSTEC
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และนาย Vinita Venkatesh ผู้อำนวยการ Navayuga Container Terminal ท่าเรือกฤษณาปัทนัม ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ พร้อมด้วยเรือโท ชำนาญ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวย กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ และ Ms. Taylor Ramsey ผู้จัดการ Navayuga Container Terminal สำนักงานประเทศสิงคโปร์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กทท. (ท่าเรือระนอง) และ Navayuga Container Terminal ท่าเรือกฤษณาปัทนัม ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือกลุ่มประเทศ BIMSTEC
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวว่า การเชื่อมโยงเส้นทางเดินเรือระหว่างไทยและกลุ่ม BIMSTEC ผ่านท่าเรือกฤษณาปัทนัมและท่าเรือระนองของไทย เชื่อว่าจะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ประมาณ 50 % หรือครึ่งหนึ่ง จากเดิมใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน เหลือไม่เกิน 7 วัน ขณะที่ปริมาณสินค้าระหว่างไทยและกลุ่ม BIMSTEC มีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 8% และหลังจากมีความร่วมมือแล้วเชื่อว่าจะขยายตัวได้ 9-10 % โดยสินค้าที่กลุ่ม BIMSTEC นำเข้าจากไทยก็จะเป็นสินค้าเหล็ก น้ำมันปาล์ม วัสดุก่อสร้างอื่น ๆ
สำหรับบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างท่าเรือลักษณะ Port–to–Port Cooperation เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างท่าเรือทั้ง 2 แห่งในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการบริหารจัดการท่าเรือ การปฏิบัติการภายในท่าเรือ ส่งเสริมงานด้านการตลาดการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการท่าเรือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารการเชื่อมโยงเครือข่าย ของท่าเรือ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่าเรือ ทั้งนี้ ทั้ง 2 ท่าเรือจะต้องจัดประชุมการดำเนินงานเชิงปฏิบัติการร่วมกันเป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้บริการขนส่งสินค้าโดยระบบตู้สินค้าระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมถึงระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ทางทะเลของทั้ง 2 ประเทศ
การรวมกลุ่มความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC เป็นการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อยู่ในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความคืบหน้าเป็นลำดับสอดคล้องกับนโยบายมองตะวันตกที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือในกลุ่ม BIMSTEC เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกของทั้ง 2 ประเทศ.-สำนักข่าวไทย
