กทม.14 ส.ค.-แกนนำ นปช. 24 คน เฮ! ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีก่อการร้ายปี 53 ชี้ชุมนุมตามสิทธิ์ ไร้หลักฐานใช้ความรุนแรง
ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ อ่านคำพิพากษาคดี พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง กับพวกรวม 24 คน “ร่วมกันก่อการร้าย ปลุกปั่นยั่วยุ ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ”
สืบเนื่องจากวันที่ 28 ก.พ.- 20 พ.ค.53 จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่หลบหนี รวมทั้ง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ที่เสียชีวิตแล้ว ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายด้วยการยุยง ปลุกปั่นประชาชนทั่วราชอาณาจักรให้เข้าร่วมชุมนุม สะสมอาวุธสงครามรัายแรง บุกเข้าไปตามสถานที่ราชการต่างๆ ปิดถนน ก่อความวุ่นวาย และความไม่สงบในบ้านเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช.เป็นการใช้สิทธิ์เรียกร้องทางการเมืองให้นายอภิสิทธิ์ นายกฯ ขณะนั้น ประกาศยุบสภาและให้จัดการเลือกตั้งใหม่ เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมโดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 53 ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีพยานใดยืนยันว่า นปช.คนใดดำเนินการที่จะเป็นความผิดก่อการร้าย ที่จะมีเจตนาพิเศษถึงขนาดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพียงแต่นำสืบฟังได้ว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง ที่เป็นกรณีเกิดความขัดแย้งของการเมืองไทยมาตั้งแต่ก่อนปี 48 ในช่วงของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม.ดำเนินการลักษณะของการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองลักษณะคล้ายกัน การชุมนุมของ นปช. ก็ได้ประกาศเปิดเผยโดยชัดเจนมาตลอดว่าได้ดำเนินการรวมตัวกันโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ ในส่วนของนายสมบัติ มากทอง เสียชีวิต และนายสุรชัย เทวรัตน์ หลบหนี ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีและจำหน่ายคดีชั่วคราวตามลำดับ
หลังฟังคำพิพากษานายณัฐวุฒิ เปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า กลุ่ม นปช.ไม่ได้มีเจตนาก่อการร้าย แต่เป็นการต่อสู้เรียกร้องตามหลักการประชาธิปไตย ซึ่งคำพิพากษาของศาลวันนี้(14 ส.ค.)ถือว่ามีความยุติธรรมที่ให้โอกาสกลุ่มแนวร่วม ด้านนายจตุพร กล่าวขอบคุณศาลที่เมตตา ขอบคุณประชาชน และขอบคุณญาติของวีรชนและผู้เสียสละทุกราย
สำหรับคดีนี้ อัยการทยอยยื่นฟ้องกลุ่มแกนนำ นปช. เป็นชุดๆ 4 สำนวน ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.53 จนครบ 24 คน และมีการรวมพิจารณาคดีเดียวกัน ซึ่งใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐานและสืบพยานบุคคล มานาน 9 ปี โดยระหว่างการสืบพยาน ศาลพิจารณานัดพร้อมเป็นระยะๆ เพื่อรวมคู่ความกำหนดกรอบ ประเด็นสืบและระยะเวลาสืบพยานเนื่องจากทั้งโจทก์และจำเลย ต่างเสนอขอสืบพยานนับร้อยปาก โดยทำการสืบพยานต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มสืบพยานโจทก์ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.55 และเริ่มสืบพยานจำเลยปี 62 กระทั่งนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ (14 ส.ค.62).-สำนักข่าวไทย
