หนองคาย 13 ส.ค.- นายด่านศุลกากรหนองคายเผยหลังมอบคืนที่ทำการเดิมอายุเก่าแก่สไตล์ฝรั่งเศสให้กรมธนารักษ์เมื่อปีที่แล้ว ยังไม่มีการใช้อาคาร เชื่อกรมธนารักษ์เตรียมแผนบริหารจัดการเน้นอนุรักษ์ไว้แทนการเช่าเพื่อพาณิชย์
นายนิมิตร แสงอำไพ นายด่านศุลกากรหนองคาย เปิดเผยว่า หลังจากมีการก่อตั้งสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 เมื่อปี 2482 เพื่อควบคุมด่านหนองคายและด่านในภาคอีสาน จากที่เคยใช้บ้านไม้ริมแม่น้ำโขงเป็นสถานที่ปฏิบัติราชการเก็บภาษี เมื่อการค้าขายดีขึ้น เก็บภาษีได้มากขึ้น ทำให้เริ่มแออัด และได้มีการก่อสร้างอาคารราชพัสดุ ซึ่งเป็นอาคารสไตล์โคโลเนียน ศิลปะฝรั่งเศส ทรงปั้นหยา 2 ชั้น สีเหลือง เมื่อปี พ.ศ.2493 สมัยรัชกาลที่ 5 บนเนื้อที่ 2 งาน 87 ตารางวา ใช้ชื่อว่า “ศุลกสถาน” ตั้งอยู่ถนนท่าด่าน ตลาดท่าเสด็จ หรือ ตลาดอินโดจีน เขตเทศบาลเมืองหนองคาย โดยชั้นบนเป็นที่ทำการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการด่านศุลกากรหนองคาย ซึ่งใช้อาคารหลังนี้ปฏิบัติงานเรื่อยมา โดยไม่มีการดัดแปลงสภาพ จนเมื่อไม่นานมานี้ทั้งสองด่านได้ย้ายออกไปอยู่ที่ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของตลาดท่าเสด็ ทำให้ต้องคืนอาคารหลังนี้ให้กับกรมธนารักษ์ เมื่อปี 2561 เพื่อให้บริหารจัดการพื้นที่ต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากอาคารหลังดังกล่าว
นายนิมิตร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีกระแสหลายฝ่ายวิตกกันว่ากรมธนารักษ์จะให้เอกชนมาเช่าทำอาคารร้านค้านั้น เชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเท่าที่ได้พูดคุยกับธนารักษ์จังหวัดหนองคายทราบว่ากรมธนารักษ์มีแผนบริหารจัดการอยู่แล้ว ประกอบกับความที่เป็นตึกเก่าแก่ ทางกรมธนารักษ์จะบริหารจัดการตามระเบียบข้อกฎหมาย โดยเน้นการอนุรักษ์ตึกเก่าไว้ให้ลูกหลาน สร้างองค์ความรู้ หรืออาจทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างคุณค่าให้คนรุ่นหลังได้ทราบประวัติมากกว่า
“จุดผ่านแดนสำคัญของหนองคาย คือท่าเสด็จ มีชาวไทย–ลาว เดินทางเข้า-ออกเป็นประจำ สมัยก่อนมีเจ้าหน้าที่สรรพากรเก็บภาษีให้ แต่ต่อมามีการก่อตั้งสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ก็ได้สร้างอาคารราชพัสดุหลังนี้ขึ้น เมื่อกรมศุลกากรไม่ได้ใช้อาคารราชพัสดุนี้แล้วก็ได้ส่งมอบคืนให้กรมธนารักษ์บริหารจัดการพื้นที่ต่อ”.-สำนักข่าวไทย