ก.แรงงาน 12 ส.ค.-รมว.แรงงานย้ำแรงงานไทยขอให้ไปทำงานอย่างถูกกฎหมายได้รับการคุ้มครองไม่ถูกเอาเปรียบ ขณะที่แรงงานไทยเปิดใจขอบคุณทุกฝ่ายในการช่วยเหลือ
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับลูกเรือประมงไทย จำนวน18 คนที่เดินทางกลับจากประเทศโซมาเลีย โดยตัวแทนแรงงานได้มอบพวงมาลัยดอกไม้ เพื่อแสดงความขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้โดยสวัสดิภาพ
ม.ร.ว.จัตุมงคล เปิดเผยภายหลังว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ของแรงงานลูกเรือประมงไทยที่ถูกลอยแพที่ประเทศโซมาเลีย โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแล ซึ่งในวันนี้ (12ส.ค.)เป็นการเดินทางกลับของลูกเรือประมงจำนวน 18 คนที่เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 06.30 น.เช้าวันนี้ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ประสบปัญหาถูกนายจ้างลอยแพบนเรือประมง กลางทะเลชายฝั่งโบซาโซ่ ประเทศโซมาเลีย ไม่ได้รับค่าจ้าง และขาดอาหาร จนต้องติดต่อขอความช่วยเหลือด่วน
รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากการตรวจสอบปรากฎว่า มีจำนวน 42 คน ไปทำงานกับนายจ้างประเทศอิหร่าน เป็นเรือ 2 ลำ ชื่อ วาดานิ 1 มีแรงงานไทยจำนวน 22 คน และเรือวาดานิ 2 มีแรงงานไทยจำนวน 20 คน โดยเรือวาดานิ 1 เดินทางกลับมาก่อน 4 คน เดินทางไปโดยไม่ได้แจ้งกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และพบว่าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศของกรมการจัดหางาน จำนวน 13 คน
สำหรับแรงงานที่กลับในวันนี้ 18คนป็นสมาชิกกองทุนฯจำนวน 5 คน โดยแรงงานที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนเพื่อช่วยหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เป็นค่าพาหนะ (ในต่างประเทศ) ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท
นอกจากนี้กรมการจัดหางานร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) ยังได้อำนวยความสะดวกโดยจัดรถรับ-ส่ง พร้อมจัดหาที่พักให้แก่แรงงานก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสุรินทร์ 6 คน บุรีรัมย์ 8 คน เพชรบูรณ์ 2 คน สมุทรสาคร 1 คน และชัยภูมิ 1 คน และจากนี้จะได้สอบข้อเท็จจริงจากแรงงานไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไป
รมว.แรงงาน กล่าวเน้นย้ำให้ผู้ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศเดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางาน พร้อมสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยมีอัตราค่าสมัครสมาชิก 300-500 บาท แตกต่างกันตามประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน เพื่อจะได้รับการคุ้มครอง ดังเช่น กรณีของลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหาถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ซึ่งแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุน ก็จะได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิ ส่วนแรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงานนอกจากจะ ต้องอยู่อย่างลำบากและต้องหลบซ่อนแล้วยังถูกเอารัดเอาเปรียบอีกด้วย
ขณะที่นายธนากร ชะรารัมย์ หนึ่งในลูกเรือประมงไทยที่ได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้ กล่าวว่า ตอนลงเรือ ไปในฐานะคนอวน ทำงานอยู่กลางทะเล จากที่ตกลงไว้เงินเดือนจะแตกต่างกันตามตำแหน่ง ตนได้ 15,000 บาท แต่พอไปทำงานจริงได้เงินเดือนเพียงเดือนละ 5,000 บาทและได้เงินอยู่เพียงแค่ 2 เดือนจากนั้นก็ไม่ได้อีก เมื่อทวงถามจากเถ้าแก่ที่เป็นต่างชาติก็บอกปัดไปเรื่อยๆว่ารอให้ขายปลาให้ได้ก่อน ทั้งที่เห็นว่าปลาก็ขายได้ตลอด จนต่อมาก็ไม่สามารถติดต่อได้ และถูกปล่อยอยู่กลางทะเล จึงตัดสินใจถ่ายคลิปส่งทางมือถือให้เพื่อนที่เมืองไทย ไม่คิดว่าจะเป็นข่าวใหญ่ขนาดนี้ จนได้รับการช่วยเหลือ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานในครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามลูกเรือประมงคนอื่นๆ มีนายหน้าชาวไทย ชื่อว่า ‘เสี่ยช้าง’ เป็นคนติดต่อให้ลงเรือประมง ซึ่งหลายคนบอกว่าเคยลงเรือที่ติดต่อผ่านเสี่ยช้างเป็นนายหน้าให้ก็ไม่มีปัญหา เพิ่งมามีครั้งนี้ ขณะที่บางคนเพิ่งลงเรือเป็นครั้งแรก .-สำนักข่าวไทย