กรุงเทพฯ 9 ส.ค. – การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยและความพิการ ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ใช้แก้ปัญหาโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวอีสานตอนบน 4 จังหวัดให้ดีขึ้น
เทคโนโลยีช่วยตอบโจทย์บริการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการกู้วิกฤติโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีอาการปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เชื่อมต่อนำระบบเทเลเมดิซีน กล้องถ่ายภาพ และไมโครโฟน ติดกับรถฉุกเฉิน ช่วยส่งต่อข้อมูล เห็นภาพผู้ป่วย พร้อมสัญญาณชีพ ความดันโลหิต ออกซิเจนในเลือด ช่วยให้เกิดการเตรียมพร้อมของการรักษาก่อนเวลา อย่างน้อยเฉลี่ย 20 นาที ลดอัตราการเสียชีวิตและพิการ
ชั่วโมงทองของการกู้วิกฤติหลอดเลือดสมอง ทั้งแตกและตีบ มีแค่ 4 ชั่วโมงครึ่ง แพทย์ต้องประเมินและจ่ายยาตามน้ำหนักตัว รวมถึงการประคองความดันโลหิต เพราะหากเลยเวลา อาจทำให้ความพิการหลงเหลือ โดยชาวบ้านอีสานตอนบน ในเขตบริการสุขภาพที่ 7 ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ พบมีอัตราป่วยโรคหลอดเลือดเฉลี่ย 5,000 คน/ปี ร้อยละ 80 เป็นเส้นเลือดสมองตีบ ร้อยละ 20 เส้นเลือดในสมองแตก และร้อยละ 10 เสียชีวิต ดังนั้น เพื่อความรวดเร็ว บริการการแพทย์แบบบูรณาการระหว่างโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลอำเภอ นอกจากส่งต่อเร็วแล้ว ยังเพิ่มเครื่องซีทีสแกน พร้อมฝึกอบรมอายุรแพทย์ให้สามารถปรุงและจ่ายยาละลายลิ่มเลือดได้เองอีกด้วย ช่วยย่นเวลา ลดขั้นตอน หากผู้ป่วยมีอาการชัดเจน
บริการการแพทย์แบบเชื่อมต่อ ร้อยข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่และเล็ก แก้ปัญหาเส้นเลือดในสมองแตก ตีบ ได้รวดเร็ว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ที่สำคัญลดความพิการ ซึ่งเป็นบาดแผลทางกายและใจ ช่วยเพิ่มแรงใจให้ผู้ป่วยและญาติ. – สำนักข่าวไทย