ภูมิภาค 6 ส.ค.- ฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลดินภูเขาบนถนนสายแม่สอด-แม่สะเรียง เขต อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พังทลายลงมาปิดทับเส้นทางพร้อมกันถึง 16 จุด ขณะที่หมู่บ้านวาแหมะคี ต.ท่าสองยาง ก็ถูกน้ำป่าและดินโคลนจากภูเขาไหลถล่มท่วมหมู่บ้าน ส่วนบริเวณชายหาดทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา คลื่นลมแรงแรงกัดเซาะชายหาดยาวหลายร้อยเมตร พร้อมซัดเอาซากปะการัง เปลือกหอย ขยะทะเล ปริมาณหลายตันขึ้นมากองอยู่บนชายหาดด้วย
ฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ดินภูเขาบนถนนเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 สายแม่สอด-แม่สะเรียง เขต อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ดินภูเขาสูงอุ้มน้ำไม่ไหว เกิดสไลด์ตัวและพังทลายลงมาจากไหล่ทางภูเขาสูง ลงปิดทับเส้นทางพร้อมกันถึง 16 จุด โดยเฉพาะ กม.150 และ กม.152 ดินโคลนและต้นไม้ขนาดใหญ่ไหลปิดทับเส้นทางกินรัศมีกว้างบนผิวการจราจร ส่งผลทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้
นอกจากนี้ เมื่อช่วงเย็นวานนี้ เกิดฝนตกหนักบนภูเขาสูงเหนือหมู่บ้านวาแหมะคี หมู่ที่ 2 ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าและดินโคลนจากภูเขาไหลถล่มเข้าท่วมหมู่บ้านแบบฉับพลัน เสียงดังสนั่นดอย จนชาวบ้านไม่ทันตั้งตัว ทิ้งบ้านวิ่งหนีเอาตัวรอดกันโกลาหล ซึ่งหลังน้ำป่าสงบลงชั่วคราว พบความเสียหายเบื้องต้น มีบ้านเรือนประชาชนถูกดินโคลนซัดถล่มบ้านพังเสียหายไป 5 หลัง รถยนต์ 1 คัน และยังมีสัตว์เลี้ยงสูญหายไปกับกระแสน้ำป่าและดินโคลน แต่ไม่มีใครเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปลอดภัย หลังฝนยังตกหนักบนเชิงภูเขา
พังงาคลื่นลมแรงซัดปะการังเกยหาด
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณชายหาดทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา คลื่นลมแรงแรงกัดเซาะชายหาดเป็นแนวยาวหลายร้อยเมตรจนเกือบถึงถนน ทำให้ต้นไม้ชายหาดขนาดใหญ่ล้มเป็นจำนวนมาก และคลื่นได้ซัดเอาซากปะการัง เปลือกหอย ขยะทะเล ปริมาณหลายตันขึ้นมากองอยู่บริเวณชายหาด มีสภาพคล้ายกับการเอาเครื่องจักรขนาดใหญ่ขุดขึ้นมากองรวมกันไว้
นายจงรักษ์ โฮ่สกุล ผู้ใหญ่บ้านบางสัก ม.7 กล่าวว่า โดยธรรมชาติบริเวณดังกล่าวจะเป็นจุดที่มีซากปะการัง ซากสัตว์ทะเล ขยะทะเล โดนคลื่นซัดขึ้นมาเกยตื้นอยู่เป็นประจำ แต่ไม่เคยเห็นว่ามีปริมาณมากเท่านี้มาก่อน ส่วนการกัดเซาะในอดีต ในช่วงฤดูมรสุมก็จะมีการกัดเซาะบางส่วน และทะเลจะนำทรายกลับคืนสู่ชายหาดอีกครั้งเมื่อมรสุมหมดไป แต่ปัจจุบันพบว่าปริมาณทรายกลับคืนสู่ชายหาดน้อยลง ทำให้การกัดเซาะมีมากขึ้นทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน แต่ก็ยังไม่สามารถลดการกันกัดเซาะชายฝั่งได้เลย
เขื่อนอุบลรัตน์ยังไม่มีน้ำเข้า
สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ยังไม่พ้นวิกฤติ น้ำใช้การได้ยังติดลบ ขณะปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเป็นศูนย์ ด้านกรมชลประทานเตรียมทุ่มงบ 800 ล้านบาท แก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมในระยะยาว แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ภาคอีสาน แต่พื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์กลับไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเลย (คิดเป็น 0%) ล่าสุดมีปริมาณน้ำอยู่ราว 544 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดเป็นร้อยละ 22 ของความจุอ่าง ส่วนน้ำใช้การได้ยังติดลบ เกือบ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนยังจำเป็นต้องระบายน้ำวันละ 500,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ.-สำนักข่าวไทย