กาฬสินธุ์ 5 ส.ค.-ชาวบ้านใน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ หวั่นผู้ป่วยต้องยืมยากันกิน เสี่ยงต่ออาการของโรค
จากกรณีชาวบ้านใน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ลงชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องย้ายนายแพทย์ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ออกนอกพื้นที่ โดยชาวบ้านอ้างว่านายแพทย์สาธารณสุขไม่ให้สั่งซื้อยา จนทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถสั่งซื้อยาจากบริษัท เพื่อนำมาแจกจ่ายยาให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน และโรคไต ส่งผลให้ขาดยารับประทานทำให้อาการป่วยทรุดลง ซึ่งทางโรงพยาบาลกมลาไสย ยอมรับว่าขาดยาจริง เพราะไม่สามารถสั่งซื้อยากับบริษัทได้ เนื่องจากเป็นหนี้กับทางบริษัทหลายล้านบาท และเอกสารบิลสั่งซื้อยาถูกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอายัดไปตรวจสอบนานแล้วแต่ยังไม่เสร็จ ปัญหาดังกล่าวบานปลายไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. เนื่องจากไม่ได้รับยาจากโรงพยาบาลเช่นกันจนไม่สามารถแจกจ่ายยาให้กับประชาชนได้ครบ ทำให้ผู้ป่วยต้องยืมยากันกิน
ล่าสุดวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านและผู้ป่วยใน ต.โคกสมบูรณ์ และ ต.โพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กว่า 50 คน รวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่รับผิดชอบโดยตรงเร่งแก้ไขปัญหากรณีสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ตรวจสอบปัญหาการสั่งซื้อยาของของโรงพยาบาลกมลาไสย ยังไม่แล้วเสร็จและไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน จนทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถสั่งซื้อยาจากบริษัทได้ นำไม่สู่การขาดยารับประทานอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วย จนต้องยืมยากัน ชาวบ้านเกรงว่าหากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านยังยืมยากันกินอยู่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและทำให้อาการของโรคกำเริบและทรุดหนักกว่าเดิม เนื่องจากสภาวะร่างกาย รวมทั้งอาการของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่กลับต้องมากินยาชนิดเดียวกันและปริมาณเท่ากันนั้น
นายทองดี บุญแสงสี อายุ 63 ปี หนึ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้รับการยารักษามาไม่ครบ ซึ่งทางโรงพยาบาล บอกว่าสั่งซื้อยายังไม่ได้และขอติดค้างไว้ก่อน หากยืมยาจากโรงพยาบาลอื่นมาได้จะนัดให้มาเอาวันหลัง ทำให้ตนกลับบ้านโดยได้รับยาไม่ครบและยาบางตัวกินหมดแล้ว โดยเฉพาะยารักษาระดับน้ำตาลและยาความดัน ซึ่งต้องไปยืมเพื่อนบ้านที่ป่วยโรคเบาหวานด้วยกันมากิน เพราะกลัวว่าระดับน้ำตาลจะสูงขึ้นและความดันจะเพิ่ม แต่ก็ไม่ทราบว่าจะได้ผลหรือไม่ เพราะคนที่ไปยืมยานั้นเป็นเพิ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานมาไม่กี่ปี ส่วนตนนั้นป่วยมาหลายปีแล้ว จึงไม่ทราบว่ายาที่แพทย์สั่งจ่ายนั้นจะเป็นตัวยาเดียวกันหรือปริมาณเท่ากันหรือไม่
ด้านนายคงเดช เฉิดสถิต สจ.เขตอำเภอกมลาไสย ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ปัญหานี้ถูกปล่อยเรื้อรังมานานแล้ว โดยยังไม่ได้รับการแก้ไข จนปัจจุบันขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ กระทบไปยัง รพ.สต. และชาวบ้านขาดยา ต้องยืมกันกิน เพราะโรงพยาบาลสั่งซื้อยาไม่ได้ เนื่องจากเอกสารและความคืบหน้าการตรวจสอบการสั่งซื้อยาถูกสำนักงานสาธารณสุขดองเรื่องไว้ จนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกลายเป็นสูญญากาศขาดการดูแลและเหมือนกับถูกทอดทิ้งจากผู้บริหารของหน่วยงานสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด ซึ่งหากปล่อยให้ปัญหานี้ยืดเยื้อออกไปนานๆ ชาวบ้านและผู้ป่วยยังต้องยืมยากันกินอยู่อย่างนี้ เกรงว่าจะกระทบกับการรักษาโรคและภาวะร่างกายได้ หน่วยงานที่รับผิดชอบควรที่จะเร่งดำเนินการแก้ไข จะทำอย่างไร วิธีใดก็รีบทำ การตรวจสอบความผิดปกติของการสั่งซื้อยาก็ดำเนินการไปใครผิดใครถูกว่ากันไปตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริง ส่วนการดำเนินการจัดหายาก็ต้องดำเนินต่อไป เพื่อให้กระทบต่อผู้ป่วยและประชาชน ควรแยกให้ออกและเร่งแก้ไขก่อนที่จะสายเกินแก้
ทั้งนี้จากข้อมูลทราบว่าก่อนหน้านี้โรงพยาบาลกมลาไสยได้รับงบประมาณการจัดซื้อยาปีละกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งจากปัญหาการตรวจพบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ที่ส่อไปในทางทุจริต โดยการยักยอกเงินจำนวนกว่า 5 ล้านบาท จนทาง ปปท.เขต 4 เข้ามาตรวจสอบ ประกอบกับการตรวจพบความผิดปกติในการสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ทำให้ทางโรงพยาบาลกมลาไสย เป็นหนี้ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าอื่นๆ รวมทั้งหมดกว่า 80 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้นายแพทย์วรวิทย์ เจริญพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยางตลาด รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสย ยอมรับว่าโรงพยาบาลเป็นหนี้ค่ายากับบริษัทประมาณ 30 ล้านบาท และค่าเวชภัณฑ์อื่นรวมทั้งหมดกว่า 80 ล้านบาทจริง ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการแล้ว จึงทำให้การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความยากลำบาก.-สำนักข่าวไทย