ทำเนียบฯ 5 ส.ค. – รัฐบาลเตรียมออกมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 เดือนสุดท้าย ยืนยันออกแพ็กเกจใหญ่ ยาแรงเห็นผลชัดเจน ช่วยเหลือครอบคลุมทุกกลุ่ม จากผลพวงเศรษฐกิจชะลอตัว
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หารือหน่วยงานในกระทรวงการคลังและแบงก์รัฐ เพื่อศึกษาออกมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปลายปี รองรับ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ยังไม่มีงบลงทุนออกสู่ระบบ จึงต้องใช้มาตรการออกมาช่วยเยียวยาเศรษฐกิจครึ่งหลังไม่ให้มีปัญหา เนื่องจากขณะนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รองนายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้ทุกหน่วยงานออกมาตรการดูแลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มโดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รายย่อยต้องดูแลให้มีกำลังซื้อ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในกิจการด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน คนระดับกลางไม่ให้มีความเดือดร้อนจากต้นทุนค่าครองชีพ
รวมถึงการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เพราะเป็นสาขาส่งผลต่อธุรกิจรายย่อยที่เกี่ยวข้องอย่างมาก รวมทั้งการท่องเที่ยวในชุมชน ในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ พิจารณาดูแลกลุ่มเป้าหมาย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลเกษตรกรให้มีเงินทุนหมุนเวียนด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน ธนาคารออมสิน ดูแลสตาร์ทอัพ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีเงินทุน ในส่วนของรายย่อยผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ จะใช้เป็นเครื่องมือจากมาตรการที่ออกมาเพื่อดูแลรายย่อย เมื่อทุกหน่วยงานสรุปมาตรการได้แล้ว ต้องเสนอ ครม.เศรษฐกิจ และเสนอ ครม.ชุดใหญ่เห็นชอบภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้เป็นมาตรการแพ็จเกจใหญ่ผลักดันพร้อมกันหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มาตรการออกไปแล้วต้องเห็นผลชัดเจน หวังดันให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยใช้งบประมาณครั้งนี้อยู่ในกรอบวินัยทางการคลัง และ พ.ร.บ.งบประมาณ
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระแสการเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้น ในส่วนตัวมองว่าควรให้คนเดิมดูแลงานไปจนกว่าจะครบวาระ และการตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎมหมายฉบับใหม่ ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการกลั่นกรองบอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จากนั้นนำรายชื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นับเป็นขั้นตอนใหม่อีกหลายด้านที่ต้องดำเนินการให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับการแบ่งงานของกระทรวงการคลัง นายอุตตม กำกับดูแลกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กำกับดูแลกรมศุลกากร กรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง ธนาคารกรุงไทย .-สำนักข่าวไทย