ปักกิ่ง 3 ส.ค.- ผลการประชุมกลุ่มอาร์เซ็ป เห็นชอบร่วมกันเปิดเจรจาให้แล้วเสร็จปีนี้ โดยไทยคาดได้ประโยชน์หลายอุตสาหกรรมจากตลาดประชากรรวมเกือบครึ่งโลก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังได้เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 8 ในวันนี้ ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า รัฐมนตรีอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศยืนยันความตั้งใจที่จะสรุปผลการเจรจาทั้งหมดให้ได้ในปีนี้
ประเด็นสำคัญที่ได้หารือกัน อาทิ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การยื่นข้อเสนอการค้าบริการ โดยไทยในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปในปีนี้ได้แสดงบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศที่ยังคงมีประเด็นติดขัดเพื่อเร่งขับเคลื่อนการเจรจาให้จบในปีนี้ ซึ่งทุกประเด็นสามารถหาทางออกและมีข้อสรุปเบื้องต้นได้ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการจะนำไปสู่การปิดรอบการเจรจาครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายนที่กรุงเทพมหานคร
สำหรับการประชุมอาร์เซ็ปที่เหลือในปีนี้ ที่จะมีการเจรจาเปิดตลาดการค้าและลดปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆของสมาชิกที่จะนำไปคุยกันต่อในระดับต่างๆด้วยนั้นประกอบด้วย 1.การประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปนัดพิเศษ ในปลายเดือนสิงหาคม ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย 2.การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปครั้งที่ 7 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในต้นเดือนกันยายน ณ กรุงเทพฯ 3.การประชุมคณะกรรมการเจรจาฯ ครั้งที่ 28 ในปลายเดือนกันยายน ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และ 4.การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปก่อนการประชุมผู้นำอาร์เซ็ปในต้นเดือนพฤศจิกายน
นอกจากนี้ ไทยยังได้หารือสองฝ่ายกับอินเดีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ ซึ่งรัฐมนตรีแต่ละประเทศต่างเน้นย้ำถึงเป้าหมายการเจรจา และพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนไทยในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนนตรีอาร์เซ็ปผลักดันการเจรจาให้สำเร็จเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ปให้ได้เร็วที่สุด รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อการสร้างบรรยากาศการค้าโลก
“การเจรจาอาร์เซ็ป ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยสามารถเพิ่มตลาดที่มีประชากรรวมกันมากถึง 3,500 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 48 ของประชากรโลกและมีมูลค่า GDP กว่า 27.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 32.3 ของ GDP”นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับ สินค้าที่ไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับ FTA ที่มีอยู่ เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสัมปะหลัง และกระดาษรวมถึงส่งเสริมให้การออกกฎระเบียบ และมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคีอาร์เซ็ปในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง พวกเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนนิเมชั่น และเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่ไทยยังมีความต้องการ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S curve เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ การศึกษา การซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน
ทั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) RCEP สมาชิกประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศรวมกับ และประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย –สำนักข่าวไทย