เชิญ ‘เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์’ เตรียมความพร้อม จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

กทม.2 ส.ค.-กองทัพเรือ เชิญเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ จากพิพิธภัณฑ สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ลากจูงไปเก็บที่อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562


วันนี้(2ส.ค.) เวลา 06.00 น. กองทัพเรือได้ทำการเชิญเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และลากจูงเรือไปเก็บที่อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 


ปัจจุบันกองทัพเรือได้เชิญเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ในขบวนเรือพระราชพิธีจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และท่าวาสุกรี มายังอู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร 

เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง 


หลังจากนี้ กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพายของเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และในส่วนของเรือลำอื่น ๆ ในริ้วขบวนจะจัดให้มีการฝึกซ้อมบริเวณ วัดราชาธิวาสวิหาร ทุกวันโดยไม่มีวันหยุดเช่นกัน โดยจะ 

รวมพลในเวลา 08.00 น. ของทุกวัน บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เพื่อเริ่มซ้อมในเวลา 09.00 น. ของทุกวัน 

ทั้งนี้มีกำหนดการฝึกซ้อมย่อยในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 10 ครั้ง ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2562 – 10 ตุลาคม 2562 และกำหนดการซ้อมใหญ่ จำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และ 21 ตุลาคม 2562 ตามที่มีประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย และการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มอบภารกิจในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค  ในครั้งนี้ให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานอนุกรรมการและมีหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เช่นกรมศิลปากร กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการในพระองค์เป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการคอยให้คำปรึกษาและข้อแนะนำ การปฏิบัติต่าง ๆ ให้แก่คณะอนุกรรมการ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ 

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้จัดเตรียมเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น จำนวน 52 ลำ โดยมีเรือที่สำคัญเป็นเรือพระที่นั่งได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ ยังมีเรือพระราชพิธีอื่นด้วยเช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น 

ทั้งนี้ ในส่วนของ คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ได้ดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนเรือพระราชพิธี ทั้ง 52 ลำ นั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 7 ปี ที่ได้ว่างเว้นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยกองทัพเรือได้ร่วมกับกรมศิลปากร สำรวจสภาพเรือพระราชพิธีแล้ว มีสภาพชำรุด ทรุดโทรมมาก เช่น เรือมีรอยแตก ตัวเรือบิด เป็นต้น ในการนี้กองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการซ่อมทำบูรณะเรือพระราชพิธี โดยแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนการซ่อมตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ และส่วนการตกแต่งตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมบูรณะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ อยู่ในสภาพพร้อมที่เข้าร่วมพระราชพิธีฯ ในครั้งนี้ 

ด้านกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ได้คัดเลือกกำลังพลจากหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือจำนวน 2,200 นาย เป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ซึ่งเป็นกำลังพลของกองทัพเรือทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลที่ไม่เคยเป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธีมาก่อน และได้มีการฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปัจจุบันได้รับการฝึกความคุ้นเคยกับเรือภายในหน่วยเสร็จสิ้นแล้วและทำการฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2562 เป็นต้นมา โดยเป็นการฝึกซ้อมการเข้ารูปขบวน และการเดินทางเป็นรูปขบวนเดินทางตามลำดับ เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงของเรือในขบวนเรือพระราชพิธี มีกำหนดการซักซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้มีความพร้อมที่ปฏิบัติงานในวันพระราชพิธีฯ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 

ทั้งนี้ เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ที่ได้เตรียมไว้เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ เส้นทางจากท่าวาสุกรี ถึง วัดอรุณราชวราราม โดยการซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนในแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคม 2562 

ด้านการเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ เป็นการจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้ 

– ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน 

– ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า 

เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก 

– ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ 

เรือพระที่นั่งเป็นเรือสำหรับพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันมีเรือพระที่นั่งกิ่ง 3 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (เป็นเรือพระที่นั่งทรง) เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช (เป็นเรือทรงผ้าไตร) และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 (เป็นเรือพระที่นั่งทรงสำรอง) ซึ่งถือเป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุดในบรรดาเรือพระที่นั่ง ส่วนเรือ พระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ถือเป็นเรือพระที่นั่งศรี ซึ่งเป็นเรือพระที่ลำลองของพระมหากษัตริย์ 

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นใหม่ปลายรัชกาลที่5 เนื่องจากเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำเดิมทรุดโทรมจนไม่สามารถซ่อมต่อไปได้โดยสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลที่6 เมื่อ พ.ศ.2454 พร้อมทั้งประกอบพิธีลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ในปีเดียวกันโดยเปลี่ยนชื่อเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2535 องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร พิจารณามอบรางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์โดยคณะกรรมการองค์การ World Ship Trust เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลกประจำ พ.ศ.2535 (The World Ship Trust Maritime Heritage Award ‘Suphannahong Royal Barge’) จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ 

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 3 แต่เริ่มใช้ในขบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลที่ 4 ชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช ส่วนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อทดแทนลำเดิม และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2457 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 โดยกองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากรได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากร ดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล  อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2537 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลงน้ำ 

เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2539 เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เคยเป็นเรือพระที่นั่งทรงเมื่อคราว เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 

7 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 5 โดยใน พ.ศ.2512 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยงดการเข้าร่วมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อ พ.ศ.2510 เนื่องจากอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก และบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จใน พ.ศ.2515  .-สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยิงสส.กัมพูชา

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” ดับกลางกรุงเทพฯ

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ดับใกล้วัดดังกลางกรุง พบเหยื่อมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลฮุนเซน

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษหากพบเข้าไปข้องเกี่ยว

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา-วอศ.สระบุรี ชนะเลิศแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา และ วอศ.สระบุรี ชนะเลิศในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวแนะนำ

ปล่อยตัว “แซม ยุรนันท์” สวมกอดครอบครัว ขอกลับบ้านก่อน

“แซม ยุรนันท์” ได้รับการปล่อยตัวแล้ว สวมกอดครอบครัวด้วยสีหน้ามีความสุข พร้อมขอบคุณสื่อมวลชนที่มาต้อนรับ ขอกลับบ้านก่อน ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม

จับแล้วมือยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ย่านบางลำพู

“ผู้การจ๋อ” ส่ง “สารวัตรแจ๊ะ” นำทัพสืบ บช.น. ร่วมตำรวจกัมพูชา แกะรอยบุกจับ “จ่าเอ็ม” มือยิง “ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ถึงพระตะบอง ประเทศกัมพูชา

ปล่อยตัว “มิน พีชญา” หลังอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีดิไอคอน ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม

ปล่อยตัว “มิน พีชญา” หลังอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี “ดิไอคอน” เปิดใจขอบคุณกระบวนการยุติธรรมและทัณฑสถานหญิง ดูแลเป็นอย่างดี ยืนยันบริสุทธิ์ใจตั้งแต่แรก พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์ตนเองแล้ว

พบ จยย.มือยิงอดีตนักการเมืองกัมพูชาจอดทิ้งปั๊ม คาดได้ตัวเร็วๆ นี้

ตำรวจตรวจพบรถจักรยานยนต์มือยิงอดีตนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชาแล้ว จอดทิ้งไว้ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง บริเวณเลียบด่วนมอเตอร์เวย์ คาดได้ตัวคนร้ายเร็วๆ นี้