ฮอกไกโด 26 ก.ค. – กนอ.ศึกษาความก้าวหน้าเทคโนโลยีบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น พร้อมเตรียมนำมาเป็นต้นแบบที่จะพัฒนาใช้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคตรองรับการเติบโตของการลงทุนในอีอีซีและอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดให้อุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และทิศทางการลงทุนในไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะอีอีซี ดังนั้น กนอ.จึงเดินหน้าศึกษาเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะขยะที่มีโลหะหนัก เช่น ปรอท ปัจจุบันขยะเหล่านี้ยังไม่มีเทคโนโลยีจัดการและได้ส่งออกมาจัดการที่ประเทศญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีการกลั่นปรอทขั้นสูง ซึ่ง กนอ.นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานที่โรงงานอิโตมูกะ ของบริษัทโนมูระโคซัง จำกัด Nomura Kohsan Co.,Ltd. ที่ได้มาตรฐาน ISO 14001 ที่ฮอกไกโด ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และยังให้ความสนใจโครงการทดสอบเทคโนโลยีดักจับและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือซีเอสเอส ของบริษัท เจแปน ซีซีเอส เมืองฮอกไกโด เพื่อนำมาปรับใช้ในการกำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมของไทยที่ปัจจุบันมุ่งใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศที่เปิดดำเนินการแล้วให้เข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายในปี 2564
สำหรับบริษัทโนมูระ โคซัง จำกัด เป็นธุรกิจรวบรวมของเสียที่มีปรอทปนเปื้อนจากทั่วโลก รวมทั้งไทยส่งมาจัดการและยังรวบรวมจาก 47 จังหวัดของญี่ปุ่น แบ่งเป็นแบตเตอรี่แห้งปีละ 13,000 ตัน หลอดฟลูออเรสเซนต์ใช้แล้ว 8,000 ตันต่อปี และของเสียที่มีปรอทอื่น ๆ อีก 6,000 ตันต่อปี ของเสียเหล่านี้ถูกบำบัดและจัดเก็บผ่านเทคโนโลยีการกลั่นปรอทขั้นสูง จนสามารถนำปรอทบริสุทธิกลับมาใช้งานใหม่ได้อีกครั้งถึงปีละ 50 ตัน ส่งออกไปยังประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย เป็นต้น
ส่วนโครงการทดสอบเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของบริษัท เจแปน ซีซีเอส ตั้งอยู่บนเกาะฮอกไกโดเป็นโครงการสาธิตที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นหรือเมติ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งไทยมีการศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าวเช่นกัน แต่การจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ต้องอาศัยความพร้อมหลายด้านต่อไป.-สำนักข่าวไทย